กรณีแบบเรียนวิชาภาษาไทย “ภาษาพาที” ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในโลกออนไลน์ หลังจากมีการเผยแพร่ภาพบทเรียนที่สอนให้เด็กมีความสุขกับการกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาและไข่ต้ม
- อ่านข่าว วิโรจน์ ฉะยับ หนังสือเรียนยุครัฐบาลนี้ สอนเด็กรับสภาพอัตคัด มีความสุขกินข้าวคลุกน้ำปลา
ล่าสุด ชาวเน็ตแชร์ภาพบทเรียนในหนังสือเล่มดังกล่าวอีกครั้ง โดยพบว่าในบทที่ 2 เรื่อง คนละไม้ คนละมือ มีตอนหนึ่งที่ตัวละครเด็กชายในหนังสือกล่าวว่า “ผมมีเงินติดกระเป๋ามาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนัก แต่ผมยินดีบริจาคช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมโลก ผมหยอดเงินใส่ทุกกล่องจนเงินหมด
การช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน นั่นก็คือการมีจิตสาธารณะนั่นเอง ผู้คนในชาติก็อยู่อย่างมีความสุข เป็นการกระทำที่มาจากจิตใจที่งดงามของตนเอง โดยปราศจากการบังคับ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”
และในบทที่ 6 เรื่องจากคลองสู่ห้องแอร์ มีบทสนทนาระหว่างเด็กหญิงและเจ้าของร้านค้าว่า “ก่อนกลับบ้านน้าแป๊ดพาหลานขึ้นไปศูนย์อาหาร น้าแป๊ดกินบะหมี่แห้ง แต่ใบพลูกินข้าวมันไก่ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ค่อนข้างเผ็ด ใบพลูจึงไปขอน้ำปลาจากร้านข้าวแกง
แม่ค้า : อะไรกัน ไม่ได้ซื้อข้าวแกงร้านนี้สักหน่อย จะมาขอน้ำปลา คนขายต่อว่าก่อนจะอนุญาต เอ้า! อยากได้ก็ตักไป
ใบพลูคอหด เดินถือจานข้าวมันไก่กลับโดยไม่ได้เติมน้ำปลา ไม่เป็นไร เขาไม่เต็มใจให้ก็อย่าไปเอาของเขาดีกว่า น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ ทำอย่างไรขนบธรรมเนียมประเพณีดีๆ ของไทยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจะอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนและในทุกที่”
ทั้งนี้ หลังจากภาพแบบเรียนดังกล่าวถูกแชร์ออกมา ชาวเน็ตจำนวนมากต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นกัน โดยส่วนใหญ่ล้วนไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนดังกล่าว เช่นการสอนว่าให้บริจาคจนหมดตัว และมองคนไม่บริจาคคือคนแล้งน้ำใจ อีกทั้งยังมองว่าไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินบริจาค หรือการแบ่งปันน้ำปลาจากร้านอาหาร ความจริงล้วนแล้วแต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของทั้งนั้น