กองทัพเรือ เมินเสียงทักท้วง เดินหน้าซื้อโดรน Hermes 900 แม้มีประวัติตกบ่อย

ทร. เมินเสียงทักท้วง เดินหน้าซื้อโดรน Hermes 900 แม้มีประวัติตกบ่อย ผู้ยื่นรายอื่นอุทธรณ์ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ไม่โปร่งใส

เป็นที่ชัดเจนหลังจากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 กองทัพเรือได้ประกาศเลือก UAV แบบ Hermes 900 ของบริษัท Elbit Systems-AEROSPACE จากอิสราเอลให้เป็นผู้ชนะโครงการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ ประจำฐานบินชายฝั่ง ในราคากว่า 4 พันล้านบาท

แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสทักท้วงจาก สส.ฝ่ายค้าน และความห่วงใยจากประชาชนจำนวนมาก ถึงการใช้งบประมาณจำนวนมากหลักพันล้านแลกกับโดรนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ มีประวัติตกมาแล้วหลายครั้ง ถึงขั้นบริษัทส่งมอบงานให้แก่กองทัพของสวิสเซอร์แลนด์ไม่สำเร็จ

ล่าสุดก่อน ทร. ประกาศผู้ชนะเพียง 1 เดือน โฆษกกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ เพิ่งแถลงข่าวว่าอากาศยานไร้คนขับแบบ Hermes 900 ตกจนต้องสูญเสียอากาศยาน เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากปัญหาระบบสื่อสารและระบบควบคุม จนถึงขั้นกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ได้สั่งระงับการปฏิบัติภารกิจของ Hermes 900 ทั้ง 8 ลำ

แต่ ทร. ยังเดินหน้าประกาศเลือกโดรน Hermes 900 ให้เป็นผู้ชนะ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทเสนอให้ถึง 7 ลำ โดยทร.ยึดปัจจัยความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์กับ ทร. สูงสุด และตั้งเป้าลงนามสัญญาภายใน 30 วัน ทั้งที่การลงนามสัญญานั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อพ้นจากระยะเวลาการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

แหล่งข่าวแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้เสนอราคารายอื่นได้ยื่นอุทธรณ์ต่อกองทัพเรือ กรณีคณะกรรมการไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จนอาจเกิดความไม่โปร่งใสในการพิจารณาผลคะแนน

การอุทธรณ์ครั้งนี้ ตามระเบียบของรัฐทำให้กองทัพเรือจำเป็นต้องชะลอเดินหน้าเซ็นสัญญาออกไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์พิสูจน์ให้ผู้แข่งขั้นทุกราย และประชาชนจำนวนมากที่กำลั่งจับตามองได้เห็นถึงการดำเนินการที่โปร่งใสทุกขั้นตอน ซึ่งอาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และส่งผลให้กองทัพเรือไม่สามารถลงนามสัญญาใน 30 วันอย่างที่ตั้งเป้าไว้ และทำให้โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับครั้งนี้ถูกจับตาไม่แพ้โครงการเรือดำน้ำ โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้แน่นอน

ทางด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระที่ 1 รับหลักการ ที่ผ่านมา ตนเองได้อภิปรายเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง มูลค่า 4,070 ล้านบาทของกองทัพเรือ ที่ถูกตั้งคำถามว่าการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) ของการจัดซื้อครั้งนี้ผิดวัตถุประสงค์ของการขอใช้งบประมาณหรือไม่ เนื่องจากกองทัพเรือของบประมาณเพื่อซื้อ UAV ติดอาวุธ 3 เครื่อง แต่กลับกำหนด TOR เพื่อจัดหา UAV แต่ไม่รวมการจัดหาอาวุธมาด้วย และเมื่อตรวจสอบราคาของ UAV พร้อมระบบต่างๆ ตาม TOR ของกองทัพเรือ โดยอ้างอิงจากรายงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงกลาโหม พบว่างบประมาณที่กองทัพเรือใช้จัดหาในโครงการนี้สูงกว่าราคาที่ สทป.เสนอไว้ถึง 400 % ราคา สทป. 3 เครื่อง ประมาณ 900 ล้านบาท อีกด้วย