ครูจุ๊ย กุลธิดา: เปลือยการศึกษาไทยช่วงวิกฤติโควิด-19

Highlight

  • ระบบราชการ ระบบคิดของคนต่อการศึกษา และระบบอำนาจนิยม ยังเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย
  • การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาเพิ่มปัญหาให้กับระบบการศึกษา ขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ 
  • การช่วยเหลือของภาครัฐในช่วงโควิด-19 ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากภาครัฐใช้การจัดการปัญหารูปแบบเดิม ๆ กับสถานการณ์โรคระบาดอุบัติใหม่ 
  • ปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยเพื่อช่วยเหลือนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 คือทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการจัดการศึกษา

“ระบบการศึกษาไทย” อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยถกเถียงกันในสังคมบ่อยครั้ง ทั้งปัญหาเรื่องหลักสูตรการสอน เรื่องทรัพยากรบุคคลและเม็ดเงิน รวมไปถึงเรื่องอำนาจนิยม จนคล้ายกับว่าปัญหาของระบบการศึกษาของไทยได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ยากจะหาทางแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ทว่า ในห้วงเวลาที่หลายภาคส่วนพยายามหาทางออกให้กับปัญหาที่เป็นอยู่ การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ซ้ำเติมระบบการศึกษาไทยให้บอบช้ำมากขึ้น เรียกว่าปัญหาเก่า ๆ ยังไม่ทันได้แก้ไข ก็มีปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาให้ต้องหาทางแก้ไขไม่หยุดหย่อน 

เมื่อการศึกษายังคงเป็นสิ่งจำเป็น และปัญหาทั้งหมดต้องถูกสะสาง แม้ในสถานการณ์โรคระบาด ชวน “ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ” คณะกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า มาเปิดเปลือยปัญหาการศึกษาไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 และหาทางออกไปพร้อมกัน

ปัญหาเรื้อรังการศึกษาไทย

“สิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดและไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ก็คือปัญหาเรื่องวิธีคิดระบบราชการ ที่มันครอบระบบการศึกษาทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งมันก็จะสร้างให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเงิน วิธีคิดแบบราชการคือระบบที่แข็งตัวมาก ๆ แล้วก็ไม่ปล่อยให้คนทำงานได้ใช้ความคิดของตัวเองในการบริหารจัดการอะไรเลย ทุกอย่างต้องมารอที่ส่วนกลางทั้งหมด มันก็เลยทำให้งานการศึกษาที่ควรจะเป็นงานที่สร้างสรรค์ที่สุด ไม่สามารถทำงานอย่างสร้างสรรค์ได้ แล้วก็ไม่ได้รับทรัพยากรที่เพียงพอ” กุลธิดาเริ่มต้นสะท้อนปัญหา 

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ไม่เพียงแต่วิธีคิดแบบระบบราชการเท่านั้นที่สร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาไทย แต่วิธีคิดของคนในสังคมต่อระบบการศึกษาก็เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษา กุลธิดาชี้ว่า คนในสังคมต้องตอบคำถามให้ได้ว่าการศึกษาไทยเป็นไปเพื่ออะไรกันแน่ ระหว่างการเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง และพัฒนาตัวเอง หรือเป็นเพียง “ใบเบิกทาง” เพื่ออาชีพ และการไต่เต้าทางสังคม

“อันสุดท้ายคือระบบอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทย มันเป็นปัญหาต่อกระบวนการเรียนรู้ เพราะหลาย ๆ ครั้งมันทำให้พื้นที่ปลอดภัยไม่เกิดขึ้น ก็คือการที่นักเรียนคนหนึ่งอยู่ในห้องเรียน แล้วเขาไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ของเขา ที่นี่ไม่ใช่ที่ที่เขาจะทำผิดได้ ล้มลุกคลุกคลานได้ ก็เลยทำให้เกิดปัญหากระบวนการเรียนรู้” กุลธิดาอธิบาย 

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถพัฒนาได้ กุลธิดาสะท้อนว่า สภาพเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่ผู้คนต้องดิ้นรน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ผู้ปกครอง” ที่ควรจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ระบบการศึกษามี 3 ฝ่ายที่ต้องทำงานร่วมกัน ก็คือบ้าน โรงเรียน และนักเรียน ของเราคือฝ่ายผู้ปกครองยังไม่ค่อยมีส่วนร่วม ซึ่งการที่ครอบครัวไม่สามารถมามีส่วนร่วมกับการศึกษาของลูกได้ มันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ยากลำบาก” กุลธิดากล่าว 

วิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมระบบการศึกษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่สะท้อนชัดเจนผ่านข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุว่า เด็กนักเรียนไทยมากกว่า 270,000 คน เข้าไม่ถึงไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ เมื่อรัฐบาลประกาศให้เรียนออนไลน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 

“เด็กได้รับผลกระทบเยอะมาก เอาพื้นฐานก่อน จากการขาดแคลนทรัพยากร การเข้าไม่ถึงทรัพยากร แล้วก็ความพยายามของภาครัฐในการใช้เทคโนโลยีเพื่อมาแก้ปัญหา แต่วิธีแก้ของเขาเป็นวิธีแก้ แบบคำสั่งที่ Top-down ลงมา แบบระบบคิดของราชการ แต่ไม่ได้สนับสนุนอย่างเพียงพอ ดังนั้น ลักษณะการทำงานของรัฐราชการ ทำให้การจัดการทรัพยากรเป็นไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพมาก เมื่อเป็นแบบนั้น มันทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเขาได้” กุลธิดาวิพากษ์ 

นอกจากนักเรียนจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักแล้ว ครูผู้สอนก็เป็นคนอีกกลุ่มในระบบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์การสอนออนไลน์จากภาครัฐ และเรื่องกระบวนการวิธีสอน 

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

“เราจะไปโทษคุณครูอย่างเดียวไม่ได้ หลายครั้งเราเห็นว่านั่งหน้าจอ 7 ชั่วโมง เอาห้องเรียนปกติมาวางไว้บนหน้าจอเลย ก็ใช่ เพราะเขาไม่รู้จักวิธีอื่น เพราะมันไม่ได้มีการส่งเสริมวิธีอื่น เราเห็นการทำงานแบบนี้ สั่งว่าฉันจะเอาแบบนี้ เธอก็ไปดู DLTV สิ” กุลธิดาเล่า 

“แล้วเราลองนึกถึงบริบทสุดท้าย คนที่สามที่อยู่ในความสัมพันธ์การศึกษา ก็คือที่บ้าน บ้านก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกเช่นกัน กว่าเราจะได้รับเงินสนับสนุนไม่กี่พันบาท เรารอนานมาก แล้วกระบวนการได้รับเงินก็มีปัญหา เป็นปัญหาคลาสสิกที่จะต้องโอนเงิน รับเงิน เดินทางไปรับ วุ่นวายมาก ๆ ในการรับเงินไม่กี่พันบาท” กุลธิดาอธิบาย 

การช่วยเหลือที่เชื่องช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

“การช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะหนึ่ง ไม่มีการคิดเรื่องแผนที่ต้องจัดการกับปัญหาเร่งด่วน เราเห็นว่าหลายครั้ง การตัดสินใจของรัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน มันไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น” กุลธิดาสะท้อน

นอกจากนี้ กุลธิดายังยกตัวอย่างการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐไทย ที่กำหนดตัวชี้วัด 44 ข้อ ให้โรงเรียนทั่วประเทศทำตาม แต่กลับไม่มีการสนับสนุนเงินหรือทรัพยากรใด ๆ ส่งผลให้แต่ละโรงเรียนต้องดิ้นรนหาทางออกด้วยตัวเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่ไม่เคยลงมาสัมผัสปัญหาหน้างานด้วยตัวเอง  

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

โควิด-19 ทำให้เราเห็นเลยว่า การจัดการของภาครัฐในรูปแบบเดิม ๆ มันใช้ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ มันเลยทำให้ความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เรากำลังพูดถึงเด็กที่จะเจอภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ซึ่งมาถึงตรงนี้ เรายังไม่เห็นเลยว่ารัฐจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร แล้วยังมีเรื่องทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางสังคม ทักษะขั้นพื้นฐานต่าง ๆ” กุลธิดาสะท้อน

“กลายเป็นว่าโควิด-19 มาทำให้เห็นถึงปัญหาทั้งปัญหาคลาสสิกเดิม สะท้อนชัดขึ้น เหลื่อมล้ำหนักขึ้น รวมไปถึงปัญหาเรื่องสุขภาพจิตซึ่งมันมีอยู่แล้ว ปัญหาพัฒนาการที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่พอมีโควิด-19 ปัญหาเหล่านี้เหมือนถูกเร่งปฏิกิริยา ทำให้เรามองเห็นมันชัดขึ้น แล้วรุนแรงขึ้นด้วย” กุลธิดากล่าวเพิ่มเติม

ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหา

กุลธิดาระบุว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยเพื่อช่วยเหลือนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 สิ่งเล็กน้อยที่สุดที่รัฐบาลจะสามารถทำได้ คือการ “ลดภาระงานของครู” 

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

“มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะยาก แต่มันดันยากในประเทศนี้ คือเรื่องการจัดการพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่จะมาช่วยลดขั้นตอน ลดการทำงานที่ไม่จำเป็นของคุณครู ตัวเลขก่อนหน้านี้คือ 84 วัน จาก 200 วัน ที่ครูใช้ไปกับอย่างอื่น ที่เหลือค่อยสอน เราเลยไม่รู้ว่าจะหาคุณภาพการเรียนมาจากไหน อย่างพวกรายงานต่าง ๆ ที่ครูต้องทำ คืนเวลาให้เขา เพราะขั้นตอนนี้ มันคือขั้นตอนที่เรียกว่าช่วงฟื้นฟู คือช่วงก่อนหน้านี้ อะไรที่มันหายไป อะไรที่มันถอยไป มันต้องมาเร่งฟื้นฟู ซึ่งการเร่งฟื้นฟู คุณครูต้องการเวลา เด็กเองก็ต้องการเวลาเหมือนกัน มันไม่ควรเอาอย่างอื่นมาเบียดบังเวลาของครู แล้วก็ควรให้ทรัพยากรคุณครูเพิ่มด้วย ในการที่จะไปช่วยดูแลนักเรียน แล้วก็ช่วยฟื้นฟูทักษะความรู้ที่หายไป” กุลธิดาเสนอ 

สำหรับตัวผู้เรียนนั้น สิ่งสำคัญคือการสะท้อนปัญหาของตัวเองออกมาให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ ทั้งนี้ กุลธิดาชี้ว่านักเรียนไทยได้สะท้อนปัญหาและสิ่งที่ตัวเองต้องการมาโดยตลอด แต่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขมากยิ่งขึ้น หากนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง สื่อสารกันมากขึ้น เพื่อหาวิธีจัดการบริหารสถานการณ์ที่ลงตัวกับทุกฝ่าย เช่นเดียวกันกับผู้ปกครอง ที่ต้องสะท้อนปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ของลูกหลานมากขึ้นกว่าเดิม 

“จุ๊ยดีใจที่ในช่วงโควิด-19 ได้เห็น ได้ยินเสียงของผู้ปกครองที่เริ่มสนใจในสุขภาวะของลูก แล้วบอกว่าอันนี้การบ้านเยอะไป อันนี้ไม่เห็นเป็นสาระเลย โควิด-19 ถ้ามองให้มันเป็นข้อดีอยู่ข้อหนึ่ง มันก็ทำให้กระบวนการที่โรงเรียน มันมาเปิดเผย โปร่งใสมาก ทุกคนเห็น เมื่อทุกคนเห็นก็เริ่มมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้น จุ๊ยก็ยังอยากได้ยินเสียงผู้ปกครอง ต่อเนื่องไปจนถึงหลังโควิด-19 คือลูกเราทำอะไรอยู่ ลูกเรากำลังเรียนรู้เรื่องอะไร กระบวนการเป็นยังไง ไม่ได้หมายถึงต้องไปแทรกแซงทุกอย่างที่ครูทำ แต่พูดมันออกมา แลกเปลี่ยนกับคุณครูว่าแบบไหน มันเป็นอย่างไร มันก็จะค่อย ๆ ทำให้กระบวนการในห้องเรียนมันพัฒนาไปโดยปริยาย” กุลธิดาชี้ 

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ปัญหาระบบการศึกษาควรถูกจัดให้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งภาครัฐต้องตื่นตัวและจัดทำนโยบายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ เพราะนักเรียนถือเป็นคนสำคัญที่จะเติบโตขึ้นไปพัฒนาประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาจะมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เมื่อสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัวสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการกระบวนจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง และมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองเป็นสำคัญ

การจะทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้นกับการศึกษา เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ พร้อมกับการที่เราจะไปปลดล็อกตัวระบบราชการทั้งหมด ที่มันครอบระบบการศึกษาเอาไว้” กุลธิดากล่าวทิ้งท้าย