ฉายาสภา 2565 “3 วันหนี 4 วันล่ม” วาทะเด็ด “นายกฯ ทำปฏิวัติ” ส.ส.เต้ คว้าดาวดับ

สื่อตั้งฉายาสภา 2565 “3 วันหนี 4 วันล่ม” ส่วน ส.ว. “ตรา ป.” วาทะเด็ด “นายกฯ ทำปฏิวัติ” ขณะ “มงคลกิตติ์” คว้าดาวดับ ไร้ดาวเด่น คนดีเกลี้ยงสภา 4 ปีซ้อน

ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ร่วมกันตั้งฉายาสะท้อนการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติตลอดปี 2565 ดังนี้

1.) “สภาผู้แทนราษฎร” ได้รับฉายา “3 วันหนี 4 วันล่ม”
เนื่องจากการประชุมของ ส.ส.ตลอดปี 2565 ประสบแต่ปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ตั้งแต่เริ่มศักราชใหม่จนส่งท้ายปี ทำให้การทำงานล่าช้า โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน มักเล่นเกมนับองค์ประชุม ทั้งที่ฝ่ายตนก็ขาดประชุม และ ส.ส.รัฐบาล ก็ไร้ความรับผิดชอบในการรักษาองค์ประชุมทั้งที่เป็นเสียงข้างมาก มิหนำซ้ำช่วงท้ายวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ต่างหนีลงพื้นที่ หาเสียงก่อนเลือกตั้ง ละเลยการประชุม ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาของฉายาดังกล่าว

2.) “วุฒิสภา” ได้รับฉายา “ตรา ป.”
เพราะตลอดปี 2565 ส.ว.ยังคงทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในการลงมติพิจารณาเรื่องสำคัญแต่ละครั้ง ก็ไม่มีแตกแถว เพื่อประโยชน์ของ 2ป. คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประยุทธ์ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประวิตร โดยเฉพาะในการแก้รัฐธรรมนูญ และปัจจุบัน ส.ว.ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุน ป.ประยุทธ์ และฝ่ายสนับสนุน ป.ประวิตร จนกระทั่งล่าสุด มีการเช็กชื่อแล้วว่า ส.ว.คนไหน จะสนับสนุน ป.ใด เป็นนายกรัฐมนตรี

3.) นายชวน หลีกภัย “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ได้รับฉายา “ชวน ซวนเซ”
เนื่องจากการทำหน้าที่ของนายชวน จากที่เคยได้รับความเคารพ และเชื่อฟังจาก ส.ส.รุ่นน้อง สามารถยุติข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้ แต่ในปีนี้กลับตรงกันข้าม คือ ถูกลดความยำเกรง ไม่ได้รับการยอมรับ และยังถูก ส.ส.ท้าทาย จนหลายครั้งกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประสานงานของวิปรัฐบาลที่ไม่ดีพอ จนทำให้นายชวน ซวนเซ เสียหลักไปด้วย

4.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย “ประธานวุฒิสภา” ได้รับฉายา “พรเพชร พักก่อน”
การทำหน้าที่ควบคุมการประชุมของนายพรเพชรตลอดปี 2565 มักโดน ส.ส.-ส.ว.ทักท้วง จนบางครั้งได้แสดงความรู้สึกไม่พอใจผ่านสีหน้า และไม่สามารถควบคุมการประชุมร่วมรัฐสภาให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น มักถูก ส.ส.ประท้วงว่า ทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาล เหมือนสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากกว่าทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดคำถามว่า นายพรเพชร ควรพักก่อนหรือไม่?

5.) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ได้รับฉายา “หมอ (ง) ชลน่าน
“แม้นายแพทย์ชลน่าน จะมีความโดดเด่นในการทำหน้าที่จนได้รับฉายาดาวเด่นเมื่อปี 2564 แต่เมื่อได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ จริง กลับหมอง การอภิปรายในสภาไม่โดดเด่นเหมือนอดีต ได้ทำหน้าที่ในนามหัวหน้าพรรคฯ เท่านั้น ขาดอิสระ

6.) “ดาวเด่น’ 65” ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า “ไม่มีผู้ใดเหมาะสม” และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

7.) “ดาวดับ’ 65” ได้แก่ “นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่มีความโดดเด่นในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน โหนกระแสสังคม เพื่อหาพื้นที่ให้ตัวเอง ทั้งคดีนักแสดงสาว “แตงโม” , การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของ “โตโน่” รวมถึงกรณี “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” ล้วนแต่เป็นความพยายามหาซีนของ ส.ส.เต้ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้อง และมักแสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง ทั้งที่ไม่ได้รู้จริง ดังนั้น แม้นายมงคลกิตติ์ จะพยายามหาแสงให้ตัวเองมากเพียงใด สุดท้ายก็เป็นเพียง “ดาวดับ” และตัวตลกสีสันการเมืองเท่านั้น

8.) “วาทะแห่งปี’ 65″ ได้แก่ “เรื่องปฏิวัติผมไม่ได้เกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ..ท่านนายกฯ คนเดียว” ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นั่งอยู่ข้างกัน ดูจะไม่ยี่หระกับคำพูดดังกล่าว แต่กลับยกมือ ยิ้ม ยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ ท่ามกลางเสียงปรบมือของ ส.ส.อย่างชอบใจ ทั้งที่ตัวเองก็มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การพูด และกระทำเช่นนี้ จึงไม่ควรเกิดขึ้นในองค์กรนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการปฏิวัติ-รัฐประหาร ยังเป็นการกระทำที่ผิดครรลอง และทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย

9.) “เหตุการณ์แห่งปี” คือ “เกมพลิกสูตรหาร 100″ โดยมีความพยายามของ ส.ส. และ ส.ว.ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทันกำหนดเวลา เพื่อพลิกสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 500 กลับไปเป็นสูตรหาร 100 ตามเดิม ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐสภาทุ่มเทให้ความสำคัญ ใช้ช่องของรัฐธรรมนูญกับผลประโยชน์พรรคพวกตัวเอง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง โดยไม่ได้คำนึงว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์ใด ๆ

10.) คู่กัดแห่งปี ได้แก่ “นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สมาชิกวุฒิสภา และ “นายรังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ทั้งคู่ได้มาประชุมร่วมกัน หลายครั้งเกิดวิวาทะแบบไม่ลดราวาศอก ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ที่เริ่มต้นจากการอภิปรายของนายรังสิมันต์ มักพาดพิงที่มาของ ส.ว.บ่อย ๆ จนทำให้นายกิตติศักดิ์ ประท้วง และดึงเรื่องหนี้ กยศ. มาตอบโต้นายรังสิมันต์ ให้สำเหนียกตัวเอง เพราะไม่ยอมชำระหนี้ จนนายรังสิมันต์ โต้แย้งกลับว่า ได้ชำระหนี้ กยศ.จนครบถ้วนแล้ว

11.) “คนดีศรีสภา’ 65” ปี 2565 นี้ ซึ่งถือเป็นปีที่ 4 ที่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ยังไม่เห็นว่า จะมี ส.ส. หรือ ส.ว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ส. และ ส.ว. เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ ส.ส. และ ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ ส.ส. และ ส.ว.ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไป