ทำอย่างไรดี เมื่อ “กัญชาเสรี” บุกโรงเรียน

Highlight

  • ความพยายามในการสกัดกั้นกัญชาในโรงเรียน สวนทางกับ “กัญชาเสรี” นอกโรงเรียน ทำให้ครูต้องรับมือกับกัญชาที่ไหลบ่าเข้ามาในโรงเรียน 
  • ตั้งแต่เปิดเทอมหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ครูได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับกัญชาทุกระดับชั้น และชั้นที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับแจ้ง คือนักเรียนชั้น ม.1 
  • ปัญหาสำคัญที่สุดของสถานการณ์กัญชาในโรงเรียน คือทิศทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางของสังคม และนโยบายกัญชาเสรีของภาครัฐ
  • นักเรียนเข้าถึงข้อมูลเรื่องกัญชาได้ง่าย แต่กลับเป็นข้อมูลเพียงด้านเดียวที่ระบุว่า การใช้กัญชาจะทำให้อารมณ์ดี 
  • ทางออกของประเด็นเรื่องกัญชาเสรีในโรงเรียนคือ สร้างการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ให้นักเรียนได้ตั้งคำถามกับการใช้กัญชา เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง 

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ถือเป็นวัน “ปลดล็อกกัญชา” ของประเทศไทย หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า กัญชาไม่ใช่ “ยาเสพติด” ทั้งยังยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพหรือจำหน่าย รวมถึงการเสพหรือการสูบ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย เพราะไม่มีการเตรียมมาตรการทางกฎหมายเพื่อรับมือกับผลลัพธ์ที่จะตามมา หลังจากประกาศปลดล็อกกัญชา ก็มีข่าวการใช้กัญชาที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ประกาศให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ เป็น “เขตปลอดกัญชง – กัญชา” ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เช่นเดียวกับตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกาศว่าโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเป็น “โรงเรียนปลอดกัญชา” 

ความพยายามในการสกัดกั้นกัญชาในโรงเรียนที่สวนทางกับ “เสรีกัญชา” นอกรั้วโรงเรียน ทำให้การสั่งห้ามกลายเป็นเรื่องยาก และกลายเป็นความหนักใจที่ “ครู” ต้องหาทางรับมือกับกัญชาที่ไหลบ่าเข้ามาในโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ครูหลายท่านตั้งวง “คุยสถานการณ์กัญชาเสรีในโรงเรียน” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องกัญชาในโรงเรียน ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต หากไม่มีมาตรการรับมือที่ชัดเจน

สถานการณ์กัญชาเสรีในโรงเรียน

ครูหลายคนเริ่มต้นสะท้อนว่า ก่อนจะมีการปลดล็อกตามประกาศกฎหมายกัญชาเสรี ก็เผชิญกับปัญหานักเรียนแอบใช้กัญชาอยู่บ้าง รวมไปถึงสารเสพติดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากนักเรียนอยากรู้อยากลอง โดยนักเรียนที่ใช้กัญชาจะมีอาการง่วงนอน หลับในห้องเรียน และไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ ขณะที่ครูมักจะใช้วิธีการว่ากล่าว ซึ่งทำให้นักเรียนไม่อยากมาเรียน เนื่องจากรู้สึกอับอายและหวาดกลัว

จากการสังเกตของครูหลายท่าน ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลากว่า 2 ปี พบว่าพฤติกรรมขโมยของและใช้กัญชาในนักเรียนมีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับกัญชาในทุกระดับชั้น และชั้นที่อายุน้อยที่สุดได้รับแจ้งคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

แม้ว่าครูจะต้องรับมือกับปัญหากัญชาและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาการใช้กัญชาของนักเรียน แต่ครูที่เข้าร่วมวงพูดคุยก็สะท้อนว่า การเป็นครูเหมือนอยู่ที่เปลือกของปัญหา เนื่องจากการเข้าถึงรากของปัญหา จำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สำหรับโรงเรียนที่ถึงแม้จะถูกระบุว่าเป็นสถานที่ราชการ และไม่อนุญาตให้นำกัญชาเข้ามา แต่เมื่อนักเรียนก้าวเท้าออกจากโรงเรียน ก็สามารถพบเห็นการซื้อขายกัญชาได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ปัญหาการใช้กัญชาในโรงเรียนกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่คุณครูต้องเผชิญ

ปัญหาข้อหนึ่งที่ครูสะท้อน คือการเข้าถึงสื่อที่ง่ายเกินไป โดยเฉพาะ TikTok ที่นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องกัญชาได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ทว่าข้อมูลที่ปรากฏกลับเป็นข้อมูลด้านเดียวที่ระบุว่า การใช้กัญชาจะทำให้อารมณ์ดี ขณะเดียวกันครูผู้สอนเองก็ขาดความรู้เรื่องกัญชา หรือเรื่องหลักพิษวิทยาของกัญชา ทำให้ครูไม่มีความพร้อมในการสอน หรือรับมือกับเด็กที่ใช้สารเสพติด

ในทางกลับกัน ครูบางส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสอนเรื่องข้อดี-ข้อเสียของกัญชา และพยายามชวนนักเรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องกัญชาในคาบเรียน กลับไม่ได้รับการสนับสนุนหรือไม่มีครูท่านอื่นร่วมด้วย เนื่องจากฝ่ายกิจการนักเรียนมองว่าการสอนเรื่องกัญชาเป็นเรื่องตลกและไม่ใส่ใจที่จะให้ความรู้ เช่นเดียวกัน แม้นักเรียนจะให้ความสนใจประเด็นนี้อย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงความรู้เรื่องกัญชาได้ เพราะขัดกับหลักโรงเรียนคุณธรรม 

ครูหลายท่านชี้ว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของสถานการณ์กัญชาในโรงเรียน คือทิศทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางของสังคม และนโยบายกัญชาเสรีของภาครัฐ ส่งผลให้ครูทำงานลำบาก ครูเหมือนตกอยู่ในสถานการณ์ออกรบแต่ไร้อาวุธ ตั้งแต่ไร้สื่อการสอนเรื่องกัญชาที่เป็นกลาง ที่ชี้ให้เห็นทั้งด้านดีและด้านเสียของการใช้กัญชา ไปจนถึงวิธีการรับมือกับเด็กที่ใช้กัญชาอย่างถูกต้องและไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักเรียน

นอกจากนี้ ภาระงานอื่น ๆ จำนวนมากที่นอกเหนือจากการสอน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ครูหลายคนเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเด็กที่มีปัญหา แม้ครูรุ่นใหม่จะพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่แรงกระแทกจากคำสั่งกระทรวงฯ ผู้อำนวยการ เพื่อนครู หรือผู้ปกครอง ก็ส่งผลให้ครูหลายท่านยอมแพ้ไปในที่สุด 

ทางออกสำหรับทุกคน

ครูที่ร่วมวงพูดคุยสะท้อนว่า ทางออกของประเด็นกัญชาเสรีในโรงเรียนคือ สร้างการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ให้นักเรียนได้ตั้งคำถามกับการใช้กัญชา เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดการสื่อสารระหว่างนักเรียน ครู และผู้บริหาร เช่นเดียวกับการผลิตสื่อการสอนที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พูดถึงข้อดี-ข้อเสียของการใช้กัญชาอย่างตรงไปตรงมา และสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย 

ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ “รับฟังนักเรียน” จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในระยะยาว โดยครูที่ร่วมวงพูดคุยให้ความเห็นว่า โรงเรียนไม่มีระบบที่เข้ามารองรับและช่วยเหลือนักเรียนที่ใช้สารเสพติด เช่นเดียวกับการสื่อสารกับนักเรียนกลุ่มนี้ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากครูกับนักเรียนใช้คนละภาษา ยิ่งไปกว่านั้น ค่านิยมของโรงเรียนก็ตัดสินว่านักเรียนที่ใช้สารเสพติดเป็นคนไม่ดี ครูก็เพ่งเล็งว่านักเรียนคนนั้น ๆ เป็นเด็กเกเร เพื่อนร่วมชั้นก็ไม่ยอมรับ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลให้การเห็นคุณค่าในตัวเองและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นของนักเรียนคนนั้นเกิดได้ยากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การทำงานกับความเชื่อของครูและเพื่อนร่วมชั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อทำให้นักเรียนมีคนที่สามารถไว้ใจและพูดคุยได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย เกิดความเชื่อใจและไว้ใจ นำไปสู่ความรู้สึกมั่นใจ และสะท้อนการเห็นคุณค่าในตัวเองที่เพิ่มมากขึ้น 

สุดท้ายคือความรับผิดชอบของภาครัฐ ที่ต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อช่วยเหลือครูในสถานศึกษาที่กำลังรับมือกับปัญหาการใช้กัญชาของนักเรียน รวมไปถึงนโยบายที่จะช่วยอุดรอยรั่วของนโยบายกัญชาเสรี เพื่อปกป้องนักเรียนจากการใช้กัญชาโดยไม่ตระหนักถึงข้อเสียของมัน เช่นเดียวกับป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาที่จะถาโถมเข้าใส่ครูผู้สอน จนครูรู้สึกหมดพลังกับการแก้ไขปัญหารายวัน และลดทอนศรัทธาของครูที่ตั้งใจมาให้ความรู้กับนักเรียน