“ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ภัยเงียบที่กำลังกัดเซาะสังคม

Highlight

  • บทเรียนงานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย ระบุว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน และทำให้เด็กมีโอกาสเป็น “เด็กหางแถว” มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น
  • สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยอนุบาล เมื่อกลับเข้าห้องเรียนหลังจากปิดเรียนจากช่วงโควิด-19 คือเด็กสูญเสียความอยากรู้อยากเห็น เด็กไม่ตื่นตัวที่จะได้เรียนรู้ และไม่อยากทำกิจกรรมที่ครูเชิญชวนให้ลองทำ
  • การปิดเรียนช่วงโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทักษะด้านการเรียนรู้ของเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตของเด็ก เช่น ทักษะการเข้าสังคม และทักษะการปรับตัว เป็นต้น
  • การแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ คือทุกระดับชั้นจำเป็นต้องถอยตัวเองลงมารับเด็ก แล้วค่อย ๆ ยกระดับเด็กขึ้นไป เช่นเดียวกับการใช้เวลาช่วงปิดเทอมเพื่อสอนชดเชยให้เด็ก เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากที่ผู้ปกครองไม่มีความสามารถที่จะส่งไปเรียนพิเศษ แต่เด็กต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

ท่ามกลางปัญหาการศึกษาไทยที่ถูกทำให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่เด็กเล็ก เนื่องจากนโยบายปิดโรงเรียนเพื่อหนีโรค ทำให้เด็กเล็กที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ต้องเผชิญกับปัญหา “การถดถอย” อย่างรุนแรง ทว่าปัญหานี้กลับยังไม่ถูกพูดถึงมากนะ และอาจเป็น “ภัยเงียบ” ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในอนาคต หากไม่มีวิธีการรับมือหรือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 

ปิดเรียนโควิด-19 สู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย

บทเรียนงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งวางแผนสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey หรือ TSRS) ระบุว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

“คำว่าภาวะถดถอยก็คือทักษะของเด็กที่ขาดหายไป เขาควรได้อีกแบบหนึ่ง แต่เขาได้น้อยกว่าที่ควรจะได้ เช่น ทักษะทางด้านภาษา ทักษะด้านคณิตศาสตร์ ทักษะด้าน EF ที่จริง ๆ เด็กที่จะจบชั้นอนุบาล 3 ส่วนใหญ่ควรจะได้ ปรากฏพอปิดเรียนมาก ๆ มันก็ขาดหายไป” รศ.ดร.วีระชาติเริ่มต้นอธิบาย

“ตอนแรกเราจะเริ่มมกราคม (2564) ผมก็สั่งทีมงานให้เลื่อนไปเริ่มกุมภาพันธ์ เพื่อให้มีเด็กบางคนถูกปิดนานกว่า บางคนไม่ถูกปิด มันจะได้เอาผลมาเทียบกัน พอเรามาวิเคราะห์รวม ๆ แล้ว ที่ปิดตอนนั้นเมื่อเทียบกับวันหยุดที่มีจริง เด็กเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเด็กแทบไม่ได้อะไรเลยในช่วงที่ปิดเรียน” รศ.ดร.วีระชาติกล่าว 

ผลการเปรียบเทียบระดับความพร้อมฯ​ ด้านวิชาการของเด็กปฐมวัย แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่มีการปิดเรียนเนื่องจากโควิด-19 อย่างยาวนาน มีระดับความพร้อมฯ ต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่างในปี 2563 ซึ่งไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 และกลุ่มตัวอย่างในปี 2564 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เล็กน้อย นอกจากนี้งานวิจัยยังพบอีกว่า การปิดเรียนจากการระบาดของโควิด-19 อย่างยาวนานนั้น ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีโอกาสเป็น “เด็กหางแถว” มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของกลุ่มเด็กปฐมวัยที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

เด็กเล็กสนใจเรียนน้อยลง

รศ.ดร.วีระชาติ ชี้ว่า การไปโรงเรียนเป็นการฝึกให้เด็กสามารถนั่งเรียนรู้หรือทำกิจกรรมได้นาน แต่สิ่งที่เห็นจากการปิดเรียนนาน ๆ คือเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นและฝึกฝนในส่วนนี้ ส่งผลให้เด็กมีความสนใจจดจ่อสั้นลง สอดคล้องกับ ปานตา ปัสสา หรือ “ครูนกยูง” ครูอนุบาลโรงเรียนบ้านดอนทับช้าง จังหวัดอุบลราชธานี ที่สะท้อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนของตัวเอง เมื่อกลับเข้าห้องเรียนหลังจากปิดเรียนจากช่วงโควิด-19 คือเด็กสูญเสียความอยากรู้อยากเห็น เด็กไม่ตื่นตัวที่จะได้เรียนรู้ และไม่อยากทำกิจกรรมที่ครูเชิญชวนให้ลองทำ 

ปานตา ปัสสา หรือ “ครูนกยูง”

“ใช้คำนี้ได้เลยแหละ ‘ใช้ชีวิตไปวัน ๆ’ เกิดคำนี้ขึ้นเลย เพราะไม่อยากเรียนแล้ว เด็กเกิดความคิดว่าไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว อยากออกมาเล่นไปวัน ๆ ตั้งแต่ประถมก็มีความคิดแบบนั้นแล้ว” ครูนกยูงชี้

“ข้อมูลอีกอันที่เราพบ คือเด็กแทบทุกช่วงอายุใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พอเด็กมาใช้หน้าจอมากขึ้น พอเขาไปโรงเรียน มันก็จะเบี่ยงเบนความสนใจของเขามากขึ้น ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ก็น่าเป็นห่วงว่าอาจจะลดลงด้วย” รศ.ดร.วีระชาติระบุ

ทักษะที่ถดถอยส่งผลรุนแรงต่อเด็กเล็ก 

การปิดเรียนช่วงโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทักษะด้านการเรียนรู้ของเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตของเด็ก เช่น ทักษะการเข้าสังคม และทักษะการปรับตัว เป็นต้น

“เด็กไม่รู้วิธีผูกมิตร คือเพื่อนอยู่ตรงนี้ เราต้องเดินเข้าไปทำยังไงต่อ แต่พอสถานการณ์หลังประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น มันก็ดีขึ้น เด็กก็มาโรงเรียนทุกวัน แต่ว่าช่วงแรก ๆ ก็เหมือนต้องเริ่มต้นกันใหม่หมด เหมือนเขาไม่เคยทำความรู้จักกันมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ก่อนจะปิดโควิด-19 เขาเคยเจอกันมาแล้ว” ครูนกยูงสะท้อน 

“เท่าที่คุยกับคุณครูหลายคน คุณครูจะรู้สึกว่าเด็กรุ่นนี้ ที่กลับมาเรียนในรอบนี้ จะใช้เวลาในการปรับตัวนานกว่าเดิม สำหรับผมคงถามว่า โอเค เขาใช้เวลานานขึ้น แต่จะมีผลระยะยาวไหม เรายังไม่แน่ใจ แต่ตัวที่น่ากลัวกว่าคือ การที่ทักษะลดลงตั้งแต่ตอนต้น มันจะส่งผลในระยะยาว หนึ่ง เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ของคนเริ่มต้นจากฐาน แล้วก็ต่อยอดไปเรื่อย ๆ ถ้าฐานไม่ดี การต่อยอดก็น้อยลง สอง ถ้าคนเราเรียนได้ไม่ดี เวลาไปเรียนต่อก็จะทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ เด็กอาจจะรู้สึกว่าการเรียนมันไม่สนุกเลย” รศ.ดร.วีระชาติเสริม

เช่นเดียวกับประสบการณ์ของครูนกยูง ที่เล่าว่า เด็กมีความรู้สึกไม่อยากเรียนต่อ เพราะเด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถพัฒนาได้อีก จากการเห็นสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้เด็กตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไม เรียนไปก็คงไม่ช่วยอะไร และตัวเองก็คงไม่มีศักยภาพที่จะเรียนต่อไปได้ 

“เรารู้สึกว่าคำนี้เกิดขึ้นเร็วเกินไปหรือเปล่า กับเด็กในวัยแค่อนุบาลและประถมเองนะ” ครูนกยูงกล่าว 

แก้ไขภาวะการเรียนรู้ถดถอย

“ถ้าเรายังเป็น business as usual คือหมายความว่า ครู ป.2 เคยสอนยังไงก็จะสอนแบบนั้น มีปัญหาแน่นอน เพราะเด็กที่มาจาก ป.1 คือเขาขาด พอเขามาเจอ ยังไงเขาก็ตก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วง แล้วผมว่าเราทำน้อยเกินไป ก็คือครูที่กำลังจะสอน หรืออย่างน้อยเราควรเตรียมตัวเพื่อเทอมสอง ผมมองว่าครูอาจจะต้องก้าวลงบันไดมารับเด็ก เราเคยสอนระดับนี้ เราต้องลดลงมาอีกระดับ เพื่อดึงเด็กขึ้นไป” รศ.ดร.วีระชาติชี้

อีกหนึ่งทางแก้ปัญหา คือการใช้เวลาช่วงปิดเทอมเพื่อสอนชดเชยให้เด็ก เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากที่ผู้ปกครองไม่มีความสามารถที่จะส่งไปเรียนพิเศษ แต่เด็กต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือทุกระดับชั้นจำเป็นต้องถอยตัวเองลงมารับเด็ก แล้วค่อย ๆ ยกระดับเด็กขึ้นไป 

การศึกษาคือเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ เช่นเดียวกับการสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของคน เพราะฉะนั้น หากทุกภาคส่วนยังไม่ขยับตัวเริ่มแก้ไขปัญหาภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก ก็จะเกิดปัญหาที่ รศ.ดร. วีระชาติ ระบุว่า “เด็กในรุ่นที่โดนโควิด-19 จะมีทักษะต่ำกว่ารุ่นอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด” และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือการพัฒนาประเทศที่ลดน้อยลง เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่ต้น 

“การศึกษาของเราจริง ๆ ที่เชื่อว่าก็มีคุณภาพระดับหนึ่ง มันอาจจะมีบทบาทในการสร้างทักษะทางสังคมด้วย ถ้าสิ่งเหล่านี้มันขาดหายไป สิ่งที่จะตามมาก็คือปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการติดยาเสพติด การก่ออาชญากรรม คือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีใครอยากเป็น มันเป็นความบกพร่องหรือการขาดทักษะทางสังคมที่ดี เพราะฉะนั้น ถ้ามันไม่ได้รับการฟื้นฟู ซึ่งมีโอกาสสูงเพราะการปิดโรงเรียนช่วงโควิด-19 แล้วเด็กไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ได้มีเพื่อน ไม่ได้อยู่ในสังคม มันก็อาจจะทำให้เกิดปัญหานี้ได้” รศ.ดร.วีระชาติกล่าวปิดท้าย