สจล. จับมือกระทรวงต่างประเทศ ถกปัญหา “ความมั่นคงทางอาหาร” ผ่านเวทีเอเปค

วันที่ 28 กันยายน 2565 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือกระทรวงการต่างประเทศ และสถานีโทรทัศน์ไทบพีบีเอส จัดกิจกรรมเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ 8 “APEC and Food Security: Sustainability beyond global uncertainties” ถกประเด็นความมั่นคงทางอาหาร กับผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน เยาวชน และผู้แทนจากกลุ่มเอเปค โดยมี ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคภาษาอังกฤษ ไทนพีบีเอส Thai PBS WORLD เป็นผู้ดำเนินรายการ 

รศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ผู้คนในแต่ละภูมิภาคมักมีอยู่ดีกินดี ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใดก็ตาม แต่สถานการณ์ผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาความขาดแคลน ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอาหาร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจากการปศุสัตว์ และการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง จากปัจจัยที่กล่าวมา จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันกลับมาใส่ใจเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เพื่อหาทางร่วมมือกันและสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงทางอาหาร 

รศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยจัดภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือทางด้านการเกษตร ผลักดันแนวคิด BCG: Bio-Cilcular-Green Economy ควบคู่กับนโยบาย 3S ได้แก่ Safety (ความปลอดภัยของอาหาร) Security (ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร) และ Sustainability (ความยั่งยืนของภาคการเกษตร) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี

เพื่อสนับสนุนนโยบายและแนวคิดดังกล่าว สจล. จึงร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group ครั้งที่ 8 “APEC and Food Security: Sustainability beyond global uncertainties” เพื่อระดมสมอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องวิกฤตการณ์ความยั่งยืนทางอาหารของโลก โดยเปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าหารือแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ และครบถ้วนตามโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และเข้าถึงแหล่งทำกินได้ 

พร้อมกันนี้ ยังมีนิทรรศการข้าวไร่ จาก สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ Upland Rice: FIGHT Global Crisis โดยมี รศ.ดร.ร่วมจิต นกเขา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร มาให้ความรู้ด้านการแก้วิกฤติความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศด้วยข้าวไร่ ทั้งข้าวพันธุ์ภูเขาทอง ข้าวพันธุ์ดอกขาม ข้าวพันธุ์เล็บนก และข้าวพันธุ์สามเดือน ที่สามารถใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อการบริโภคได้