สตช. จับมือภาคเอกชนสร้าง “วัคซีนไซเบอร์” รู้ทันกลโกง ต้านภัยออนไลน์

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญกรรมทางเทคโนโลยี โดยมีศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนลงนาม ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สืบเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยมีประชาชนจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน และบางรายถึงกับสูญเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีการรับแจ้งความในคดีความเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท ทั้งนี้ สามารถติดตามอายัดบัญชีได้ 65,872 บัญชี คิดเป็นเงิน 445,265,908 บาท 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กร ทั้งในส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินงาน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชน 

ด้านศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า สถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์ได้พัฒนารูปแบบกลลวงอย่างหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นความมั่นคงระดับชาติ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ในการประชุม World Economic Forum 2023 ยังได้จัดให้ “ภัยคุกคามไซเบอร์” เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญ ภายในปี 2025 ด้วยเหตุนี้เอง เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือฯ จึงมีความยินดีในการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่าง ๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก โดยได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกส่ง ทั้งการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่าง ๆ ในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ทั้งนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และ True4U รวมถึงการจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน เพื่อคิดค้นไอเดียรับมือกลโกง และกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนา “จุดกระแส On Stage” ที่ได้กรรชัย กำเนิดพลอย มาเป็นผู้ดำเนินรายการในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้เสวนา ได้แก่ มยุรา เศวตศิลา นักแสดงชื่อดัง, ภาณุพงศ์ หอมวันทา ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time, อดีตผู้ร่วมขบวนการกลโกง Call Center และผู้เสียหายจากแอพออนไลน์ดูดเงิน ที่มาแชร์ประสบการณ์เคยตกเป็นเหยื่อกลโกงรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เคยเข้าไปทำงานกับแก๊ง Call Center จนต้องขุดดินหนีเอาชีวิตรอดออกมาจากที่คุมขัง ซึ่งผู้ร่วมเสวนาก็เห็นพ้องกันว่า โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย เพราะความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง และหากคนไทยรู้กลโกงก่อน ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างที่ผ่านมา 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบัน สามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์ได้ที่ pctpr.police.go.th โดยมี 18 กลโกงหลักของมิจฉาชีพ ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ คือ 

  1. หลอกขายสินค้าออนไลน์
  2. หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์
  3. เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) 
  4. ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) 
  5. หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ
  6. หลอกให้รักแล้วลงทุน 
  7. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือยืมเงิน
  8. ปลอมหรือแฮคบัญชีไลน์ เฟสบุ๊ก แล้วหลอกยืมเงิน 
  9. แชร์ลูกโซ่ 
  10. การพนันออนไลน์ 
  11. หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล เพื่อขโมยข้อมูล 
  12. ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน 
  13. ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ
  14. โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ
  15. หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย เพื่อข่มขู่เรียกเงิน 
  16. ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 
  17. ข่าวปลอม
  18. เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 

หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 081-866-3000 ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com