สภากรุงเทพฯ จับมือ กสศ. ผนักกำลัง ส.ก. 50 เขต ลุยแก้ความเหลื่อมล้่ำทางการศึกษา

นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้สภา กทม. กำลังพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 หนึ่งในข้อกังวลที่ถูกสะท้อนผ่าน ส.ก. ทั้ง 50 เขต คือปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพประชาชน โดยผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนใน กทม. มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยครัวเรือนทั่วประเทศถึง 1.5 เท่า พบปัญหาเด็กได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา 

“สถานการณ์โควิด-19 และปัญหาความเหลื่อมล้ำใน กทม. ส่งผลโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางบ้านยากจนถึงยากจนพิเศษ พวกเขากำลังเผชิญกับความยากลำบาก และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อหรือหยุดการเรียนกลางคัน ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นหน้าที่โดยตรงของ ส.ก. ทั้ง 50 เขต ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

นายวิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กทม. ไม่มีฐานข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ขณะนี้ ส.ก. จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาโดยร่วมสำรวจข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้กับ กสศ. ซึ่งทราบว่ากำลังทำงานกับสำนักการศึกษาในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นครั้งแรก

“ผมเชื่อว่างานนี้ไม่เกินกำลังความสามารถหาก ส.ก. ทั้ง 50 เขต จับมือกับฝ่ายบริหาร สำนักงานเขต และ กสศ. พัฒนากลไกการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในการเข้าถึงและพัฒนาระบบรองรับที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนแต่ละคน วันนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่สภา กทม. และ ส.ก. จากทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง จะร่วมกันประกาศความพร้อมในการเป็นกลไกประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อเดินหน้ายุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้สำเร็จ เพราะนี่คือ สภา กทม. ยุคใหม่ สภาที่เป็นที่พึ่งของประชาชน” ประธานสภา กทม. ระบุ

เสนอ สภา กทม. พิจารณาแปรญัติเงินอุดหนุนการศึกษา สร้างเมืองต้นแบบดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัยถึง ม.ปลาย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ กสศ. ทั่วประเทศ พบว่าในปี 2563–2565 นักเรียนช่วงชั้นปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังเผชิญปัญหาภาวะเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss สูงมาก ยกตัวอย่างผลทดสอบจากโจทย์พื้นฐานอย่างการเรียงเลขจาก 0–9 พบว่า หลังปิดเรียนนานเด็กจำนวนมากไม่สามารถเรียงเลขได้ถูกต้อง ไม่สามารถตอบได้ว่าคืออะไร ข้อมูลส่วนนี้สะท้อนว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทักษะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยถดถอยลงมาก โดยพบว่านักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมีภาวะเรียนรู้ถดถอยมากกว่าเด็กทั่วไป นี่คือวิกฤตทางการศึกษาที่จะส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

“เราเลือกโจทย์การประเมินที่ง่ายที่สุดสำหรับเด็ก 5 ขวบ หรืออนุบาล 3 ให้เขานับเลข 0 ถึง 9 มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเลขไหนคือเลข 0 1 2 3 ถึง 9 ผมมองว่าเป็นวิกฤต โดยเฉพาะสำหรับเด็กช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าว กสศ. จะร่วมทำงานกับครูโรงเรียน กทม. สำรวจข้อมูลเพื่อคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้เข้าถึงทุนการศึกษา และวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน

นอกจากนี้ กสศ. มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ในรายการปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนซึ่งที่ผ่านมาเด็กนักเรียนสังกัด กทม. ยังไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนส่วนนี้ จึงเสนอให้สภา กทม. พิจารณางบประมาณดูแลนักเรียนให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย ในอัตราที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ คือ อนุบาลคนละ 1,000 บาทต่อปี ประถมศึกษาคนละ 2,000 บาท/ปี มัธยมต้นคนละ 4,000 บาท/ปี และมัธยมปลายคนละ 6,000 บาทต่อปี ซึ่ง กสศ. พร้อมสนับสนุนข้อมูลให้สภา กทม. ประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้หากสภา กทม. สามารถจัดสรรทุนปัจจัยพื้นฐานให้กับนักเรียนยากจนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลายได้ กทม. จะเป็นโรงเรียนสังกัดแรกในประเทศไทยที่สามารถดูแลนักเรียนยากจนได้ทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ยังจัดสรรได้เฉพาะชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมต้นเท่านั้น

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเสริมว่า ข้อมูลสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติปี 2565 พบว่าภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กกรุงเทพฯ อายุ 15 ปีลงมา มีมูลค่าสูงถึง 37,257 บาท เมื่อเทียบกับกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 17,832 บาท พบว่าต่างกันเกือบ 2 เท่า เมื่อนำข้อมูลเด็กในกรุงเทพฯ ที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 มาเปรียบเทียบกับเด็กที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 พบว่ามีค่าใช้จ่ายต่างกันมาก เด็กกลุ่มที่จนที่สุดมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอยู่ที่ประมาณคนละ 6,600 บาทต่อปี ขณะที่กลุ่มเด็กที่รวยที่สุดมีค่าใช้จ่ายคนละ 78,200 บาทต่อปี หรือห่างกันประมาณ 12 เท่า ซึ่งรวมไปถึงจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ ก็จะมีข้อมูลที่คล้ายกัน
จากข้อมูลที่ กสศ. สำรวจนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในพื้นที่ กทม. พบว่ากลุ่มครัวเรือนยากจนมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,964 บาท เมื่อเทียบกับเส้นความยากจนของประเทศซึ่งอยู่ที่ครัวเรือนละ 2,762 บาท พบว่าต่างกันกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 75 ของเด็กกลุ่มนี้ครอบครัวมีรายได้ทางเดียว ผู้ปกครองส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น การดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาจึงมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น