สภาล่ม! สูตรหาร 500 ไม่ได้ไปต่อ พิจารณาไม่ทันเส้นตาย 180 วัน

การประชุมรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (15 ส.ค.) เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อใช้ในการเลือกตั้งสมัยหน้า มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาแสดงตัวไม่ถึงครึ่ง ทำให้ประธานรัฐสภาต้องปิดการประชุมหลังเริ่มได้เพียง 20 นาที

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนการพิจารณามาตรา 24/1 ของร่างกฎหมยดังกล่าวว่า มีสมาชิกทั้ง ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แสดงตัวเพียง 349 คนเท่านั้น จากสมาชิก 727 คน

การพิจารณาร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 เปลี่ยนจากการใช้บัตรใบเดียวเพื่อเลือกทั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มาแยกระบบเป็น 2 ใบ โดยที่มี ส.ส.เขตเพิ่มเป็น 400 คน และลด ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 100 คน 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ทำให้กฎหมายลูกต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เหตุนี้ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้มีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วยการนำคะแนนทั้งหมดของทุกพรรครวมกันแล้วหาร 100 ตามจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็จะตัวเลขออกมาว่าต้องมีกี่คะแนน ถึงจะได้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และแต่ละพรรคจะได้รับจัดสรรกี่คน

หลังจากกลั่นกรองร่างกฎหมายดังกล่าวของ กกต. คณะรัฐมนตรีก็เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อกลางเดือน ก.พ. แปลว่าต้องพิจารณาร่างกฎหมายนี้ให้เสร็จภายใน 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 กำหนดไว้

ที่ผ่านมาสถานการณ์ก็ดูเหมือนราบรื่น แต่หลังจากมีความกังวลว่าพรรคใหญ่ โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย อาจได้ประโยชน์จากระบบใหม่อย่างมาก ทำให้ฝ่ายที่ต้องการสกัดพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองขนาดเล็กที่อาจไม่ได้ประโยชน์จากกติกาใหม่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้เปลี่ยนจากหาร 100 มาเป็นหาร 500 โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญยังกำหนดให้หาเพดานของจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคควรจะได้รับหรือ “ส.ส. พึงมี” อยู่

  • รัฐสภาโหวตหนุนปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 หวังสกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์

ความเห็นที่แตกต่างดังกล่าวทำให้สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าการมาแก้ไขร่างกฎหมายจนไม่ตรงกับหลักการที่เสนอเข้ามานั้นไม่ยุติธรรม ใช้วิธีการทำให้สภาล่ม ซึ่งก็คือการไม่แสดงตัวระหว่างการตรวจสอบองค์ประชุมหรือก่อนการลงคะแนน เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบและประธานในการประชุมต้องสั่งปิดการประชุมในที่สุด

ดังนั้นเมื่อสภาล่ม และพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่ทัน ก็จะต้องใช้ร่างแรกที่มีการเสนอเข้ามา ก็คือสูตรหาร 100 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ถ้าระหว่างนี้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็จะต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร