สลด! หมีขาวทำร้ายแม่-ลูกวัยขวบเศษเสียชีวิตในอะแลสกา ก่อนถูกยิงตาย

หมีขั้วโลกตัวหนึ่งไล่ทำร้ายชาวบ้านที่หมู่บ้านชนพื้นเมืองแห่งหนึ่งในเขตห่างไกลของรัฐอะแลสกา ทำให้สตรีและบุตรวัยหนึ่งขวบของเธอเสียชีวิต ก่อนที่หมีขาวตัวนั้นจะถูกชาวบ้านยิงตาย

เหตุการณ์ที่แทบไม่เคยมีมาก่อนนี้เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ชุมชนเวลส์ ซึ่งเป็นชุมชนห่างไกลริมชายฝั่งช่องแคบแบริ่งทางตะวันตกของรัฐอะแลสกา ตั้งอยู่ตรงปลายสุดของทวีปอเมริกาเหนือและห่างจากรัสเซียเพียง 80 กิโลเมตร ซึ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกับหมีขั้วโลกมาช้านาน

แถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายรัฐอะแลสกา ระบุว่า ซัมเมอร์ มายโอมิค และบุตรชายวัยหนึ่งขวบของเธอ ไคลด์ อองโตวาสรูค ถูกหมีขาวทำร้ายถึงแก่ชีวิต ไม่ไกลจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง

เจฟ ยอร์ค ผู้อำนวยการอาวุโสแห่งศูนย์อนุรักษ์หมีขั้วโลก Polar Bear International กล่าวว่า ปกติแล้ว หมีขาวจะไม่ย่างกรายเข้าใกล้ชุมชนของมนุษย์ในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง โดยครั้งสุดท้ายที่มีรายงานมนุษย์ถูกหมีขาวทำร้ายถึงแก่ชีวิตต้องย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 1990

ยอร์ค กล่าวด้วยว่า ในทางธรรมชาติ หมีขาวคือผู้ล่าในระดับบนสุดของห่วงโซ่อาหาร และมองว่ามนุษย์คือเหยื่อชนิดหนึ่งของพวกมัน แต่ปกติแล้วหมีขาวจะออกล่าเหยื่อ เช่น แมวน้ำ ตามแหล่งอาหารบนแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่มากกว่าพื้นที่ใกล้ชุมชน

เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกหรือไม่ โดยเชื่อว่า อุณหภูมิในแถบขั้วโลกเหนือนั้นอุ่นลงมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกราวสี่เท่า ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ของบริเวณนี้โดยที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้

เมื่อปี 2019 ผลสำรวจด้านธรณีวิทยาของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงบนแผ่นน้ำแข็งที่เป็นที่อยู่อาศัยของหมีขาวในช่วงเดียวกับที่พบหมีขาวบนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น และมีรายงานการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์กับหมีขาวเพิ่มขึ้นด้วย

ด้าน ศาสตราจารย์เดโรเชอร์ แห่งภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยแห่งอัลเบอร์ตา (University of Alberta) ชี้ว่า สถานที่ที่เกิดเหตุหมีขาวทำร้ายคนนั้นอยู่ในเขตห่างไกลจากแหล่งที่อยู่ของหมีขาวตัวนั้น ซึ่งมาจากบริเวณทะเลชัคชีที่ยังคงมีแหล่งอาหารเพียงพอ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นั่นทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดจากที่หมีขาวตัวนั้นหลงพลัดถิ่นเพราะอาหารหรือขยะ  มากกว่าจะเป็นปัจจัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อน