ส.ว. ขวางอีก! คว่ำประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หวั่นสุดโต่ง-ประชาชนขัดแย้ง

วุฒิสภามีมติเมื่อวันอังคาร (21 ก.พ.) คว่ำญัตติของสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดประชามติเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

มติดังกล่าวมีคะแนนไม่เห็นด้วยถึง 157 เสียง ต่อ 12 เสียง

ญัตติดังกล่าวเสนอโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับความเห็นชอบท่วมท้นจากสภาผู้แทนราษฎร

นายอนุดิษฐ คุณากร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แสดงความกังวลต่อการเสนอให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่มีกรอบแนวคิดใดๆ มาจำกัดเลย ซึ่งอาจทำให้มีการแก้ไขที่สุดโต่ง นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

“การเสนอจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีกรอบความคิดใดๆ เลย แล้วบอกว่าเรื่องนี้ควรให้ประชาชนทำประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่ แล้วมีคำถามพ่วงเสียด้วยว่าให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรงเท่านั้นเนี่ย ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เนี่ย รัฐสภาแห่งนี้มีหน้าที่พิจารณาว่าหลักการเหล่านี้มีความสำคัญแค่ไหน ที่เราจะโยนต้องใช้คำว่าโยนภาระหน้าที่รับผิดชอบไปยังประชาชน แล้วเราอ้างเหตุของความเป็นประชาธิปไตยที่บอกว่าประชาชนทั้งหลายทั้งปวงมีอำนาจเสร็จเด็ดขาดในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมว่าไม่ใช่” นายอนุดิษฐ กล่าว

ส.ว. รายนี้ยังเชื่อว่าความพยายามในการจัดทำประชามติดังกล่าวหวังผลเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. มองว่า ถ้าหากปล่อยให้ทำประชามติจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนักในประเทศ

“ถ้าหากว่าประชามติเห็นด้วยแล้วเนี่ย รัฐสภาก็มีหน้าที่ที่จะไปทำรัฐธรรมนูญหรือไปแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้เกิด ส.ส.ร. ขึ้นมา คราวนี้ล่ะครับ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในแผ่นดินแน่นอนนับแต่การทำประชามติขึ้นมา มีผู้กล่าวไว้ว่าเสมือนไปทำเช็ค Blank Cheque คือเช็คเปล่า ไปลงตัวเลขเอาเองครับ เขียนยังไงก็ได้ ไม่มีกรอบ ไม่มีขอบเขต ไม่มีสิ่งที่สิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ” พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ที่เป็นที่รู้จักจากการชี้หน้า ส.ส. คนหนึ่ง กล่าวสอดคล้องกันว่า หากปล่อยให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างมาก

“ผมคิดว่าในมุมมองส่วนตัวละกันนะครับว่า ไม่ได้ขัดข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญร่วมกันรายมาตรา แต่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเนี่ย ผมมองต่างนะครับว่า อาจจะเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งของประชาชนรอบใหม่ ในการทำประชามติของพี่น้องประชาชนเนี่ย ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนก็อาจจะเห็นชอบตามที่นักการเมืองได้ใส่ข้อมูลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากเผด็จการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าตรงนี้แหละครับ เอาอะไรมาวัด” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ววุฒิสภาจะตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ที่นำเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนเพื่อหาเสียงให้ฝ่ายตัวเองได้รับเลือกเข้ามาเป็นจำนวนมาก

“ในทางการเมืองแล้วเนี่ยนะครับ คนที่เสนอเรื่องเหล่านี้เขารู้ไหม เขารู้ครับ! ว่ายังไงถ้าผ่านมาวุฒิสภา วุฒิสภาไม่เอาหรอก แต่เมื่อไม่เอาแล้วเนี่ยนะครับ เขาไม่ต้องการว่าผ่านหรือไม่ผ่านเลยนะครับ ในทางการเมืองเขาต้องการเพียงผลที่ออกมา แล้วเอาผลที่ออกมาไปขยายต่อ ไปทำงานการเมืองต่อ ถ้าไม่ผ่านวุฒิสภานะครับในการพิจารณาคราวนี้เนี่ย เขาก็จะหยิบอ้างว่า ‘นี่ไง นี่ไง ส.ว. ชุดนี้แหละ นะครับ ไม่เห็นเงาประชาชนเลย’ เขาให้ประชาชนเนี่ยนะครับ ทำประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แสดงว่า ส.ว. ชุดเนี้ยมาจากเผด็จการ มาจากการสืบทอดอำนาจ ไม่ให้ความสำคัญประชาชน เขาก็จะเอาเหตุนี้แหละครับมากล่าวอ้างในขณะนี้ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง” นายเสรี กล่าว