เปิดใจเด็กนักเรียน ร้องไห้ไหว้นายทุน ปิดทางเข้าออกโรงเรียนบนเกาะหลีเป๊ะ

รายการโหนกระแส วันนี้ เปิดใจเด็กนักเรียน ร้องไห้ไหว้นายทุน ปิดทางเข้าออกโรงเรียนบนเกาะหลีเป๊ะ ตัวแทนชาวบ้านจี้สอบ ได้เอกสารสิทธิ์โดยชอบหรือไม่ แฉซ้ำรุกที่อุทยาน

กรณีที่ชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ได้รวมตัวชุมนุมกันที่ถนนคนเดินหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากถูกนายทุนซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันในการสัญจรไปมาหลายช่วงอายุคน โดยนายทุนได้เข้าปิดกั้นที่ดิน ทำให้นักเรียนและชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน รวมตัวกันออกมาคัดค้าน นักเรียนต้องปีนรั้วไปโรงเรียน ถึงขั้นร้องไห้ไหว้นายทุน ชาวบ้านร้องให้มีการตรวจสอบนายทุนว่าได้เอกสารสิทธิ์มาโดยชอบหรือไม่

รายการโหนกระแสวันที่ 15 ธ.ค. 65 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้สัมภาษณ์ ป้าดุก พิชญา แก้วขาว ตัวแทนมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน , เรณู – ละออง ชาวบ้านที่ถูกนายทุนแจ้งความบุกรุก ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล หรือ ทนายแก้ว รองประธานคณะกรรมการเผยแพร่กฎหมาย สภาทนายความ รวมทั้ง พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ประเด็นมันยังไงกันแน่ เห็นเด็กนักเรียนมาร้องห่มร้องไห้?

ป้าดุก : ที่จริงรากของปัญหา เราคิดว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ครอบเส้นทางสาธารณะที่ชาวบ้านเดินกันมา 4 รุ่นคน ไม่น่าต่ำกว่า 100 ปี อยู่กัน 1,500 คนที่อยู่ที่นั่น ชาวเลที่นี่ ความสำคัญของกลุ่มเขาคือเขาเป็นคนประกาศว่าจะอยู่กับสยาม สมัยอังกฤษมาปกครองมาเลเซีย และต้องการแบ่งเขตดินแดนในฝั่งทะเล ผู้ปกครองจังหวัดสตูลก็ได้คุยกับชาวเล ว่าไปเอาคนที่อื่น โดยเฉพาะเกาะลันตา มาอยู่กันเยอะๆ พออังกฤษมาพูดคุยกัน คนกลุ่มนี้เขาประกาศว่าจะอยู่กับสยาม ทำให้เกาะหลีเป๊ะซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่งไป 60 กว่ากิโล ตกเป็นของไทย ทำให้เราได้ทะเลละแวกนั้นมาทั้งหมด นี่คือที่มาที่ไป

แล้วไปเกี่ยวอะไรกับที่ดินแปลงนี้ ทำไมนายทุนไปจับจองซื้อตรงนี้ แล้วมากั้นรั้ว เกิดอะไรขึ้น?

ป้าดุก : คือชาวเลเขาอยู่กันแบบพออยู่พอกิน ไม่ได้ถือเอกสารสิทธิ์ ไม่ได้แบ่งเขตอะไรกัน บ้านส่วนใหญ่ก็อยู่ติดทะเล เขาต้องออกทะเล มีเรือ พอมารุ่นที่มีเรื่องเอกสารสิทธิ์ การท่องเที่ยวเข้ามาด้วย ทำให้เขาถูกกดดัน ไม่เรียกว่าข่มขู่ แต่ถูกกดดัน บอกว่าที่ดินตรงนี้เป็นของฉัน โดยที่ชาวบ้านไม่รู้

ที่ตรงจุดนี้มันคืออะไร ที่เกิดข้อพิพาท มันคืออะไร?

ป้าดุก : ตรงจุดนี้เป็นจุดที่มีโรงเรียนอยู่ มีทางเข้าออกทะเล

มีรุกที่อุทยานด้วยเหรอที่หลีเป๊ะ?

ป้าดุก : มี 40 กว่าคดีค่ะ ตอนนี้ก็ยังอยู่ 40 คดี คนที่กั้นที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนั้นค่ะ

แสดงว่าคนมาซื้อที่และไล่ที่ชาวบ้าน มาซื้อน.ส.3 คือหนึ่งในคนที่รุกที่อุทยานด้วย?

ป้าดุก : ใช่ค่ะ

เป็นผู้ใหญ่โตกว้างขวาง มีบารมี ทำอะไรก็ได้ โรงเรียนอยู่ติดกับทะเล ตอนนี้ถ้านักเรียนจะไปโรงเรียนก็ไปไม่ได้แล้วเพราะเขาปิดไว้แล้ว ถ้าจะไปได้ก็ต้องนั่งเรืออ้อมมาเข้าหน้าหาด?

ป้าดุก : ที่เห็นพี่น้องมากางเต็นท์ เพื่อไม่ให้เขาเอาแผงเหล็กมาประกอบให้สำเร็จ ไม่งั้นพี่น้องที่มีเรือ 250 ลำ ก็จะไม่มีทางเข้าออก

ที่ตรงนี้ 1 ไร่ เมื่อก่อนมีบ้านคน เขาอยู่มาหลายชั่วอายุคนตรงนี้ 2 ใน 6-8 หลังนั่งอยู่ที่นี่ ตอนนี้เขาไม่มีบ้านอยู่ โดนไล่ที่?

ป้าดุก : ตอนนี้ยังไม่ออกไป เรื่องอยู่ระหว่างยื่นคำให้การ

เขาฟ้องเราว่าอะไร?

เรณู : บุกรุกค่ะ ให้รื้อถอน กลายเป็นจำเลยแล้ว

เขาให้ออกเพราะเขาซื้อมา แล้วที่จริงๆ เป็นของใครกันแน่?

เรณู : คุณตาของเราบอกว่าเป็นของคุณตา คุณตาไม่รู้หนังสือ คุณตาก็ไม่รู้ว่าจะไปออกเอกสารสิทธิ์ตรงไหน คุณตาไม่เคยพูด คือชาวบ้านใครมาอาศัยก็ขอคุณตา คุณตาก็ให้อยู่เป็นกลุ่มที่นั่นหมด

จากนั้นยังไง?

เรณู : จากนั้นเราก็อยู่ตรงนั้นเรื่อยมา มารู้ตอนเขามาขับไล่ แต่เราไม่ออก เขาเลยฟ้องเรา

ประเด็นคือเขาล้อมรั้ว พี่ออกยังไง?

เรณู : พี่ก็ต้องนั่งเรืออ้อมไป บ้านพี่อยู่หน้าหาดค่ะ

ถ้าเขาปิดแบบนี้ เด็กออกอีกทางได้มั้ย?

เรณู : ช่วงน้ำเยอะ เด็กก็เดินไม่ได้ค่ะ

ฝั่งเจ้าของที่ปัจจุบันที่บอกว่าไปซื้อที่ดินแปลงนี้มา เขาซื้อจากใคร?

ป้าดุก : ซื้อจากนางดารา ลูกสาวโต๊ะคีรี หนึ่งของชาวเลรุ่นแรกที่เข้ามาอยู่ ออกเอกสารสิทธิ์ไปครั้งแรก 51 ไร่ สค. 1 พอมารังวัดครั้งที่สอง เป็น 81 ไร่ พอมาเป็นน.ส.3 ตอนนี้ 140 ไร่

1 ใน 140 ไร่คือแปลงนี้ ตอนนี้นางดาราไปไหนแล้ว?

ป้าดุก : เสียชีวิตไปแล้วค่ะ

แล้วใครเอาที่ไปขาย?

ป้าดุก : ลูกๆ นางดาราค่ะ เอาไปขายให้นายทุนคนนี้ แล้วนายทุนก็ไม่ใช่คนที่มาจากข้างนอก เป็นคนที่เคยอยู่ มาขออาศัยพี่น้องชาวเล ก็แบ่งที่อยู่ให้ตรงที่ดินใกล้ๆ ที่เขาซื้อ อาศัยอยู่กันมา ขายปูขายปลา แล้วเขาเป็นพ่อค้าร่ำรวยขึ้นมา ด้วยการหาปลาของพี่น้อง พอแกมาฟ้องแล้วมีท่าทีแบบนี้ พี่น้องก็งงนะ เราอยู่ด้วยกันมาแล้วพึ่งพากันมา ไม่คิดว่าแกจะทำแบบนี้ ทีแรกถ้าดูในคลิปก็คุยกันดี ทำไมทำแบบนี้ เราจะเข้าออกทางไหน ก็คุยกันดี เขาก็เป็นคนรู้จักกันมาตั้ง 40-50 ปี

คนมาซื้อแปลงนี้เป็นนักธุรกิจ ที่รุกอุทยานด้วย?

ป้าดุก : คนนี้แหละค่ะ เขาไปสร้างรีสอร์ตรุกอุทยานค่ะ

ความน่าสงสัยที่ชาวบ้านหรือตัวแทนหมู่บ้านอยู่ตรงที่ เมื่อก่อนพื้นที่ที่เราเห็น เขาออกมาเป็นส.ค.1 ออกไป 51 ไร่ รวมโรงเรียน รวมอนามัยด้วย?

ทนายแก้ว : สักพักรังวัดกัน เป็น 81 ไร่ เป็น น.ส.3 เวลาออกเอกสารสิทธิ์ ก็จะกลายเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 140 ไร่ ก็เลยแปลกใจว่ามันบวมขึ้นมาได้อย่างไร จริงๆ ควรอยู่ที่ 51 ไร่ ต้องไปโต้เถียงกันว่าจาก ส.ค.1 มาเป็น น.ส.3 ทำไมมันบวมขึ้นมาเป็นพื้นที่เยอะขนาดนี้

พอซื้อไปก็ไม่มีการโอนกัน แล้วยังไง?

ทนายแก้ว : ประเด็นอยู่ที่นายทุนเข้ามาปิดกั้นที่ที่เป็นทางสาธารณะได้หรือไม่ก่อน ต้องดูก่อนว่าทางเข้าออกตรงนี้ใช้กันมาหลายรุ่นชีวิตกันแล้ว มันก็ต้องมีภาระจำยอมเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่นายทุนเองไปสร้างรั้วปิดกั้น ทำมิชอบครับ ถึงแม้นายทุนจะอ้างสัญญาซื้อขายเอกชนก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่คุณกำลังไปปิดกั้นที่สาธารณะหรือเปล่า ประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 1304 อนุ 1 ระบุไว้ชัดเจนว่าสาธารณะสมบัติ มันรวมถึงที่ที่รกร้างด้วย ดังนั้นกรณีนี้ในความเห็นผม เมื่อเป็นทางสาธารณะนายทุนก็ไม่มีสิทธิ์ไปปิดกั้น นี่คือประเด็นแรกก่อน ส่วนเรื่องขั้นตอนที่เขาฟ้องขับไล่ แน่นอนเขามีสิทธิ์ฟ้องขับไล่อยู่แล้ว แต่เราก็มีสิทธิ์ต่อสู้คดี มีสิทธิ์ร้องคัดค้านเพิกถอนกรณีเขาเอาแผงเหล็กมากั้นก่อนพิจารณาคดี สามารถทำได้ สามารถร้องศาลให้สั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ครับ

ธงของพี่ ต้องการอะไร?

ป้าดุก : เฉพาะหน้า ก็คือต้องไม่ปิดกั้นทาง ให้คนเข้าออกได้ก่อน ระยะต่อไปคือหน่วยงานต้องเข้ามาจัดการในการพิสูจน์เรื่องเอกสารสิทธิ์ ชอบหรือไม่

พี่คิดว่าไม่ชอบเพราะอะไร?

ป้าดุก : จาก 51 เป็น 81 ไร่ แล้วจาก 81 ไร่ มาเป็น 140 ไร่ แล้วใน 140 ไร่ มีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่น บริเวณรอบโรงเรียน หรือห่างออกมาหน่อยนึงก็มีชุมชนอยู่กันหนาแน่น ประมาณเกือบ 150 หลังค่ะ

พี่ต้องการให้เอาที่แปลงนี้คืนมาเป็นสาธารณะประโยชน์หรือยังไง?

ป้าดุก : ให้เปิดทางก่อน

ถามดีเอสไอ เรื่องนี้ยังไง?

พ.ต.ต.วรณัน : เรื่องนี้มีการมายื่นเรื่องอยู่ครั้งนึงที่กรมสอบสวนพิเศษ โดยมูลนิธิชุมชนไทมาแล้ว และเราก็ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ประเด็นที่ดินที่เกิดข้อพิพาท เป็นประเด็นเพิ่มเติม เพิ่งเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายน 65 นี้ ที่กรมสอบสวนลงไปดูมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือประเด็นการได้มาซึ่งเอกสารน.ส.3 ว่าการออกนส. 3 เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่เพราะมีประเด็นสงสัยอยู่ 2 เรื่อง หนึ่งตรงนั้นคือจุดขึ้นลงของประชาชนที่ใช่สัญจรในการลงทะเล เป็นระยะเวลามานานแล้ว มันก็มีลักษณะเป็นทางที่ประชาชนใช้สัญจรร่วมกันอยู่ สองคือประเด็นตรงที่ตั้งมันเป็นที่ตั้งชุมชน การที่จะได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งสังเกตนส. 3 คือเรื่องการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน คนทำประโยชน์คนนั้นเป็นคนเดียวกันทั้งหมดทั้งแปลงหรือไม่ อันนี้เป็นหน้าที่ที่กรมต้องลงไปดูว่ากระบวนการได้มาซึ่งน.ส.3 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เน้นย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทวงคืนพื้นที่ของรัฐกลับมาเป็นของรัฐ เราไม่ได้บอกว่าที่ดินนี้ใครเป็นผู้มีสิทธิ์มากกว่า แต่ว่าเรากำลังไปดูว่ากระบวนการเกิดขึ้นของเอกสารสิทธิ์ที่ไปดูชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นี่เป็นประเด็นหลักที่ดีเอสไอเราต้องรับผิดชอบ ประเด็นที่สองเรียนเพิ่มเติมว่า ทางกรมเองได้ส่งผู้อำนวยการศูนย์คดีพิเศษพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และภาค 9 ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะร่วมกับทางสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อไปดูสภาพปัญหาจริงในพื้นที่ด้วย

มุมนายทุนจะยังไง?

พ.ต.ต.วรณัน : หนึ่งเราดูก่อนว่ากระบวนการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ชอบมั้ย ถ้าไม่ชอบ กระบวนการหลังจากนั้นก็ไม่ชอบ สิทธิ์ก็ไม่ได้ ประเด็นคือจะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ เดี๋ยวไปดูข้อเท็จจริงตามทีหลัง แต่ประเด็นเรื่องการเปิดทางที่ทนายแนะนำก็ถูกทางแล้ว ไปใช้สิทธิ์ทางศาล

ทนายแก้ว : ถ้าเกิดเราจะไปรื้อยกแผงเหล็กออก ตรงนี้เราทำไม่ได้ การที่จะเอาออกได้ เราก็ต้องใช้สิทธิ์ทางศาล ร้องเข้าไป ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองระหว่างพิจารณาคดีก่อน ดังนั้นพี่ต้องรีบดำเนินการร้องต่อศาล จะเอาไปรื้อเองจะกลายเป็นข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตรงนี้พี่ต้องระวังครับ

ป้าดุก : ร้องไปแล้วค่ะ ศาลนัดไต่สวนอาทิตย์หน้า            

ทนายแก้ว : เรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน ระหว่างความเป็นเจ้าของที่แท้จริง กับกรณีพื้นที่ออกชอบหรือไม่ชอบ ดังนั้นขั้นตอนนี้ ต้องเป็นการสืบพยานกัน ต้องดูรูปแผนที่ประกอบเยอะแยะพอสมควรครับ

ฝั่งพี่ได้รับความเดือดร้อนยังไง?

เรณู : ตอนนี้คือมีคดีฟ้องร้องอยู่ ตอนนี้ยังเข้าออกบ้านได้ แต่ก็กลัว

ป้าดุก : เขาก็ติดป้ายว่าห้ามใครเดินเข้ามาในที่ดินของเขา พี่น้องเขาก็เลยกลัว

โรงเรียนสร้างมากี่ปีแล้ว?

ป้าดุก : ตั้งแต่ 2501

ทนายแก้ว : ร่วม 64 ปี

ป้าดุก : แล้วโรงเรียนหลีเป๊ะ เป็นโรงเรียนที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่ใช่ปิดประตูแล้วไม่มีใครเข้าหลังจากนั้น เพราะพื้นที่ชาวบ้านมีลักษณะเหมือนชุมชนแออัด ที่นั่งพักผ่อนที่ไปวาดรูป ทำกิจกรรม เด็กไปเล่นฟุตบอล ทำอะไรเล่นกัน เหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้เป็นชีวิตประจำวัน

นักเรียนมีกี่คน?

เรณู : 300 ได้ค่ะ

ตอนนี้ทั้ง 300 ไปเรียนไม่ได้?

ป้าดุก : ก็มีทางอื่นแคบๆ ไปทางหลังโรงเรียน ซึ่งต้องผ่านโรงอาหาร ผ่านแผงโซล่าร์เซลล์ ผ่านบ้านพักครู ผ่านคอกไก่

นักเรียนก็นั่งไหว้ขอนายทุนแบบนี้?

ป้าดุก : พอดีเขาจะปิดเหล็กอีกชั้น เขามาเชื่อมเหล็ก เด็กได้ยินก็วิ่งกันมาดูทีละคนสองคน เขาก็วิ่งตามกันมา แล้วไปนั่งขวางไม่ให้เขาทำต่อ ยกมือไหว้แบบนี้ ตอนหลังเขายกเหล็กลงมา เด็กได้ยินเขาบอกว่าเก็บวัสดุไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยมาทำกลางคืน

เด็กรวมตัวกันไม่ให้สร้างทางปิด เด็กขนเหล็กออกไปเลย?

ป้าดุก : ใช่ค่ะ เพราะเด็กได้ยินว่าเขาจะมาทำกลางคืน แล้วเด็กก็ขนเหล็กส่งให้เขา จะมีเด็กโตๆ หน่อยก็ช่วยมัดเหล็กให้เรียบร้อย

นายทุนยังอยู่ในพื้นที่มั้ย?

ป้าดุก : ยังอยู่ค่ะ

เด็กนักเรียนอยู่ในสาย เดือดร้อนยังไง?

เด็กนักเรียน : เข้าออกโรงเรียนยาก เพราะมีรั้วกั้นครับ

สามารถไปโรงเรียนจุดอื่นได้มั้ย?

เด็กนักเรียน : ไม่มีเลยครับ มีทางนี้ทางเดียวที่เข้ามาได้

ถ้าเขาปิดไปเลยจะทำยังไง?

เด็กนักเรียน : ถ้าปิดก็ไม่มีทางไหนเข้าโรงเรียนได้ครับ

ขึ้นเรืออ้อมหน้าหาดได้ จริงมั้ย?

เด็กนักเรียน : จริงครับ แต่ใช้เวลานาน มันไกลด้วยครับ ไม่โอเคถ้านั่งเรือไป

สิ่งที่เด็กๆ ทำกัน ทำกันยังไง?

เด็กนักเรียน : ปีนรั้วครับ เขาก็ยังกั้นอยู่ นักเรียนก็ต้องใช้วิธีนั้น ซึ่งมันเสี่ยงอันตรายมากกับชีวิตมากเลยครับ

ถ้าปีนรั้วแบบนี้ทางเขาก็สามารถแจ้งบุกรุกได้เหมือนกัน?

ทนายแก้ว : ถูกครับ กรณีนี้ความผิดฐานบุกรุกชัดเจน เพราะเขาก็มีสิทธิ์คุ้มกันที่เขาอยู่แล้ว แต่การที่น้องๆ ปีนถึงแม้จะอ้างเหตุว่าเราจะเข้าไปเรียนหนังสือ แต่เราต้องไปว่ากัน ว่าตัวนายทุนมีสิทธิ์ปิดมั้ย ต้องรอให้ทนายความไปดำเนินการฟ้องเพื่อเพิกถอนก่อน

สิ่งสำคัญต้องไปดูคือฝั่งนายทุนเขาออกเอกสารโดยชอบหรือเปล่า?

ทนายแก้ว : และซื้อขายโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า เพราะที่ตรงนี้ถ้ามีการซื้อขายก็ต้องมีการถามว่าจดทะเบียนมั้ย แต่เท่าที่ถาม ที่ดินยังไม่ได้มีรังวัดเป็นแปลงๆ เป็นการซื้อขายโดยทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายทุนกับผู้ขาย ก็ยังมีการเพิกถอนระยะเวลาซื้อขายได้ครับ

เรื่องการฟ้องร้องเข้าใจ แต่ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้คือจุดที่นักเรียนต้องไปเรียน จะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง สมมตินายทุนเขาซื้อที่ดินแปลงนี้ถูกต้องหมดเลย เขาอ้างเป็นที่ดินของเขา จะแก้ไขยังไง?

ทนายแก้ว : ก็ต้องดูว่าไอ้ที่ตรงนี้เป็นทางสาธารณะที่คุณมีสิทธิ์ซื้อหรือเปล่าก่อน ถ้ามีทางสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งในโฉนดที่คุณจะซื้อเอกสารสิทธิ์ คุณก็ซื้อไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าทางสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดินมันจะทำการซื้อขายจับจองกันไม่ได้ ต้องพิสูจน์กันว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นทางสาธารณะอยู่ ก็เป็นภาระของพี่ๆ ต้องไปพิสูจน์ดู เหมือนที่ผมพูด ภาระความเร่งด่วนคือเราต้องรีบให้ศาลไต่สวนและยกเลิกประตูนี้เสียก่อน

วันนี้ไปเรียนกันยังไง?

เด็กนักเรียน : ปีนรั้วข้ามมาครับ ทั้ง 300 คนครับ

ไปขอนายทุนหรือยัง?

เด็กนักเรียน : เคยขอร้อง แต่เขาไม่สนใจพวกหนูเลย

หนูไปบอกยังไง?

เด็กนักเรียน : ก็บอกว่าเอารั้วออกได้มั้ย พวกเราเข้าโรงเรียนลำบาก เขาไม่ตอบอะไรกลับมา แล้วก็ทำเรื่อยๆ ครับ

ทางโรงเรียนว่าไง?

เด็กนักเรียน : ทางโรงเรียนไม่ได้ว่าอะไร แต่พวกผมเป็นคนต้องเข้าโรงเรียน มันก็ยาก

ทนายแก้ว :   ถึงแม้เป็นทางเดิน นายทุนก็ไม่ยอมเปิดทางให้เฉพาะเดินอย่างเดียวก็ไม่ยอมเหรอ

เด็กนักเรียน : ใช่ครับ แล้วอันตรายกับเด็กเล็กๆ มากครับ

พ.ต.ต.วรณัน : ประเด็นเรื่องการเจรจา ท่านธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านมีประเด็นฝากมาว่าจะให้ยุติธรรมจังหวัดลงพื้นที่ช่วยดูเรื่องข้อกฎหมาย แล้วประสานทางอัยการช่วยเหลือ ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อตรวจพิกัดเดิมเรื่องการครอบครอง หรือหากต้องการให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือเรื่องไกล่เกลี่ยก็ยินดีครับ

ประเด็นเร่งด่วนคือต้องการให้เปิดทางก่อน มันอีกนานมั้ยเรื่องพิสูจน์ทราบในมุมกฎหมาย?

ทนายแก้ว : ใช้เวลานานพอสมควร แต่กรณีการขอให้เขาเปิด มันสามารถร้องศาลคุ้มครองชั่วคราวได้ก่อน ศาลเห็นความจำเป็นเร่งด่วน สามารถไต่สวนฉุกเฉินก็ได้ครับเพื่อให้เปิดทางไปก่อน ส่วนใครจะเป็นเจ้าของยังไงก็ว่ากันในศาล

พ.ต.ต.วรณัน : หรืออาจให้ยุติธรรมจังหวัดเข้าไปช่วยเจรจา คู่ขนานกับศาลไปก็ได้

ประเด็นหลักคือชาวบานอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน ไม่ต่ำกว่า 100 ปี ไม่ใช่ไปนอนอยู่ใต้สะพานแล้วไปยึดที่เขา ประเด็นหลักคือมีนายทุนคนนึงมาซื้อที่นส. 3 ตรงนี้ เมื่อก่อนที่ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เด็กนักเรียนก็เดินเข้าโรงเรียน แต่อยู่ดีๆ นายทุนเขาก็ตีโฉนดของเขาเอง และตีตราของเขาเลย ทำให้เด็กเข้าไม่ได้ คนอยู่มาเป็น 100 ปีก็ออกไม่ได้ ต้องออกมาทางหน้าหาด เด็กต้องนั่งเรือไปเรียนหนังสือ ซึ่งเด็กก็ไม่ไหวเหมือนกัน?

ป้าดุก : ประเด็นคือว่าทางสาธารณะเส้นอื่นก็ไม่มีออกทะเล หน้ามรสุมเรือนักท่องเที่ยวก็ไปหน้าหาดหน้าโรงเรียน พอหน้านี้ก็ไปขึ้นที่เขาเรียกว่าหาดพัทยา ซึ่งเป็นที่เอกชน ถนนขึ้นปั๊บ ก็ต้องผ่านขี้โคลนประมาณเข่า

อยู่ในสายกับ “อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านอยู่ในพื้นที่เลยเหรอ?

อนุชา : ใช่ครับ ลงพื้นที่เลยครับ ชาวบ้านทำข้าวเลี้ยงอยู่ครับ ตอนนี้มาดูพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อจะได้วางแผนดำเนินการต่อไปครับ

ท่านได้เจอกับนายทุนบ้างหรือยัง?

อนุชา : ยังไม่ได้เจอครับ ผมต้องรู้ข้อเท็จจริงและสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ก่อน เพื่อให้ได้มีข้อมูลในการพูดคุยหรือเจรจาในการดำเนินการขั้นต่อไปครับ

จากที่เห็นกับตา ประเมินยังไง?

อนุชา : พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงเด็กนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง วิถีชีวิตเขา เขาอยู่กันมาเป็น 100 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จนถึงปัจจุบัน เขาก็ใช้เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางหลัก แล้วย้ายถิ่นฐานกันมาโดยตลอด เพราะถูกความเจริญเข้ามาครอบงำ ในวิถีชีวิต เป็นอะไรที่น่าสงสารมาก ทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เรื่องนี้ต้องมีการจัดการอย่างจริงจังเพื่อให้ได้เป็นตัวอย่างในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เขาไม่มีโอกาสต่อสู้ หรือไม่มีโอกาสมีวิธีคิดของตัวเอง รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือครับ

ประเด็นที่จะคุยกับนายทุน มีอะไรบ้าง?

อนุชา : จากการสอบถามทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทางเส้นนี้เขาใช้เป็นทางหลักในชีวิตประจำวันมาช้านานแล้ว โรงเรียนก็ใช้เส้นทางนี้ ไม่ใช่เด็กนักเรียนเรียนอย่างเดียว แม้แต่เขาเป็นชาวเล เขาก็ใช้วิถีชีวิตในการทำมาหากินกับเส้นทางนี้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนอย่างเดียว ก็ไม่มีเส้นทางเส้นอื่นให้เขาได้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่เรื่องนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มรูปแบบ

ตอนนี้ประเด็นหลักสำคัญอาจต้องขอคุ้มครองชั่วคราว เรื่องใครซื้อกับใครก็ไปไล่กันทีหลัง?

อนุชา : ใช่ครับ ผมเชื่อว่าศาลได้รู้ข้อเท็จจริง ศาลคงมีความเมตตากับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น ผมจะเป็นตัวเร่งตรงนี้อีกตัวในการส่งข้อเท็จจริงถึงกระบวนการยุติธรรมว่าให้คุ้มครองชั่วคราว ในการเปิดเส้นทางนี้

อีกกรณีชาวบ้านก็หนักใจเหมือนกัน มองอีกมุมนึง คือมีเด็กๆ นักเรียน 300 คน รวมถึงชาวบ้านละแวกนั้น เคยไปขอนายทุนท่านนั้นบอกว่าขอเถอะอย่าปิดเลย แต่เขาก็ไม่คุยด้วย เขาติดเลยว่าบุกรุกมีโทษตามกฎหมายต่างๆ นานา ประเด็นแบบนี้เหมือนเขาไม่ได้เกรงกลัวอะไรหรือเปล่า?

อนุชา : ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เมื่อกี้ได้ยินชื่อท่านเลขาฯ ธนกฤต เรื่องนี้ต้องให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการ ในส่วนกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องสิทธิ์แทนพี่น้องที่เขาขาดที่พึ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่เหลือบ่ากว่าแรงกระทรวงยุติธรรม ที่จะมาดำเนินการ หากเจ้าของหรือคนได้รับสิทธิ์ ถ้าเขาคิดว่าเขาดำเนินการถูกต้องหรือไม่อย่างไร เดี๋ยวค่อยมาว่ากัน เรื่องนี้ต้องสู้กันให้ถึงที่สุดในทุกรูปแบบ เรื่องนี้ต้องลงไปถึงรากถึงแก่นเลย ผมเชื่อว่าความยุติธรรมยังมีในประเทศเรา

อยากพูดอะไรกับท่าน?

ป้าดุก : เรื่องเร่งด่วนค่ะ เพราะตอนนี้เด็กก็ไม่ได้ตั้งใจเรียน พอเด็กไปนั่งเรียนเขาก็มาเชื่อมเหล็กที่จะปิด พี่น้องก็เก็บเต็นท์มา 4 รอบแล้วค่ะ พอพี่น้องไม่มาเฝ้า เขาก็เอาคนงานมาก่อสร้าง เป็นแบบนี้ตั้งแต่วันที่ 26 จนถึงวันนี้ พี่น้องคุยกับปลัดเราคุยกันรู้เรื่องว่าถอยนะ วิ่งกันออกมา ต้องมาเฝ้าไม่ให้เขาเชื่อมเหล็กสำเร็จ ศาลจะนัดไต่สวนอาทิตย์หน้า แต่ช่วงนี้พี่น้องก็ต้องนอนเฝ้า เด็กนักเรียนก็ไปเฝ้าระวังตรงบริเวณของตัวเอง

อนุชา : ผมลงมาพูดคุยกับพี่น้อง ทั้งผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ภาค รวมทั้งบิ๊กโจ๊ก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทางดีเอสไอก็จะได้เฝ้าระวังเพื่อให้มีการพูดคุยหลายมิติ ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ต้องห่วงครับ ผมได้คุยกับพี่น้อง ในส่วนแกนนำ พี่น้องต่างๆ ค่อนข้างชัดเจนในการเดินทางระยะยาวเพื่อลูกหลาน เพื่อให้เขามีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ ณ เวลานี้เท่านั้น คุยกันในส่วนระยะยาวที่เราจะดูแล

ฝากดูเรื่องการรุกอุทยาน ที่ตอนนี้ก็ยังอยู่?

อนุชา : เดี๋ยวคุยกันทุกเรื่องครับ ทุกเรื่องมีการดำเนินการแน่นอน

เจ้าของที่หนึ่งไร่แปลงนี้ก็เป็นหนึ่งในคนที่รุกอุทยานเหมือนกัน?

อนุชา : คุณหนุ่มไม่ต้องห่วง ผมจะเร่งรัดในส่วนกระทรวงทรัพย์ ในการสำรวจพื้นที่ และดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ให้ทุกคนสบายใจได้

สบายใจขึ้นมั้ย?

ป้าดุก : ค่ะ ท่านก็เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาชาวเลชุดที่ท่านประวิตร แต่งตั้งค่ะ