“เสรีพิศุทธ์” รับเรื่อง สภาฯผู้บริโภค ร้องสอบ “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 3 คน และรักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีวาระพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู-ดีแทค

เมื่อพิจารณาตามบัญญัติของกฎหมาย สภาฯ พบว่า การรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 4 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม 2559

สภาฯ เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ กรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2541 ตลอดจนถึงกระบวนการลงมติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 มาตรา 27 (1) ประกอบ พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม 2554 และประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

1. การลงคะแนนเสียงของที่ประชุม กสทช. เพื่อมีมติดังกล่าวนั้น อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ผลของมติการประชุม 3.2.1. จากกรรมการห้าคนเกิดจากการลงคะแนนของประธาน กสทช. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อข้อ 41 (2) แห่งระเบียบข้อบังคับการประชุมที่กำหนดว่า กรณีการวินิจฉัยชี้ขาดนี้ต้องได้รับมติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับ

ซึ่งในกรณีนี้ มีจำนวนกรรมการให้ความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดห้าคน มีการลงมติ 2.2.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการลงมติ รับทราบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่อนุญาตให้ควบรวมจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง นั้น มีจำนวนเสียงมติมากสุดไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2. การลงมติรับทราบดังกล่าวนี้อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยในคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีการยอมรับต่อศาลว่าสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจ โดยมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต ให้มีการถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน รวมถึงมีคำสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ อันอาจเป็นการผูกขาด หรือลดหรือจำกัดการแข่งขันได้ และศาลปกครองกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งรับรองอำนาจดังกล่าวของ กสทช. มิใช่เพียงการลงมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะ

3. การจ้างบริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ที่ปรึกษาที่มีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ต้องการควบรวมกิจการ ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดความเป็นอิสระในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง แม้จะได้รับทักท้วงอย่างกว้างขวาง

4. การลงมติของกรรมการ กสทช. ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการผูกขาดของสองเจ้าใหญ่ (Duopoly) โดยขาดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น ขาดการพิจารณารายการงานศึกษาของต่างประเทศที่มีการว่าจ้างชุดสุดท้าย ไม่ให้ความสำคัญกับการพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการที่ตนเองแต่งตั้งทั้ง 4 คณะ ที่ไม่สนับสนุนให้ กสทช. อนุญาตให้ควบรวม ไม่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นถึงมาตรการเยียวยาหากมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ทำให้มาตรการที่ได้รับความเห็นชอบไม่เกิดประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้จริง สุดท้ายส่งผลต่อภาระของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้นสูงสุดถึง 244.5 เปอร์เซ็นต์ ผลกระทบด้านลบต่อจีดีพี ทำให้เกิดภาวะถดถอยของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล คนจนหรือกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงบริการหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวตอบรับว่า รู้สึกเห็นใจถึงพี่น้องประชาชนที่จะต้องใช้ประโยชน์สิ่งนี้ เพราะถ้าควบรวมได้ ประชาชนเสียเปรียบ การที่กรรมการให้ควบรวมได้ ก็ไม่รู้มีผลประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่มีคงไม่ต้องรีบ ควรรอให้มีกรรมการครบตามกฎหมายก่อนจึงจะเริ่มทำงาน

“ผมคิดว่าไม่นานความจริงก็จะปรากฏ ยินดีที่จะทำงานให้”