MEA ครบรอบ 64 ปี ก้าวสู่ความท้าทาย “CHALLENGING THE FUTURE”

MEA ปักธงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2566 – 2580 ตั้งเป้าหมายพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับ Renewable Energy และ EV สร้างความยั่งยืนขององค์กร มุ่งสู่การเป็น Green Organization พร้อมนำร่องระบบ Smart Metro Grid ควบคุมพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง พัฒนางานบริการสู่ระบบ Fully Digital Service อำนวยความสะดวกประชาชนด้วยนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา MEA ครบรอบ 64 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นี้ MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีภารกิจที่สำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเพื่อจะก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ตามแนวทาง “64th MEA CHALLENGING THE FUTURE” ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในทุกมิติ

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งยาวนาน ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 64 ปี MEA มีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญอย่างยิ่ง ต่อประเทศในการสร้างความมั่นคง เพียงพอด้านระบบไฟฟ้าด้วยการนำนวัตกรรมทันสมัยมาใช้และมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับสังคมเมืองมหานครที่เติบโตพร้อมตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพลังงาน รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดย MEA ได้กำหนดทิศทางเป้าหมายขององค์กร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

1.ระยะสั้น ปี 2566 – 2568 Strengthen Smart Energy มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อรองรับการเริ่มเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ารองรับ Renewable Energy และ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกระดับการให้บริการที่เป็น Digital service พร้อมสร้างความยั่งยืนขององค์กรตามแนวทาง Global Reporting Initiative (GRI) ที่สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติ

2.ระยะกลาง ปี 2569 – 2570 Smart Utility นั้น MEA จะมุ่งสู่การให้บริการแบบ Convergence : เชื่อมต่อบริการกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการไฟฟ้า จัดตั้ง Trader Unit และพัฒนา Virtual Utility เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า เสริมสร้างพนักงานให้มีขีดความสามารถหลากหลาย รองรับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งมุ่งสู่การเป็น Green Organization

3.ระยะยาว ปี 2571 – 2580 Sustainable Energy Utility มุ่งสู่การให้บริการในรูปแบบ Co-Creation Service เพื่อให้ลูกค้าสามารถดีไซน์รูปแบบบริการของตนเอง เป็นองค์กรต้นแบบด้านนวัตกรรม (Organization of Innovation) สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนจากการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการจัดตั้งบริษัทในเครือ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็น International Cooperation on Energy Business


ทั้งนี้ ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในปี 2565 สถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดประจำปี (Maximum Demand) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน จำนวน 9,442.22 เมกะวัตต์ มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.363 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 10.336 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือน มิถุนายน 2565)

ในด้านสถิติการจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ในปี 2565 รวมทุกกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบ้านอยู่อาศัย กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มราชการ-องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมจำนวน 4,165,131 ราย พบว่า MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม จำนวน 50,280 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 49,050 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 โดยจากสถิตินี้ พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจ มีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ จำนวน 19,174 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 18,347 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นของผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา

ขณะที่การฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจและสังคมเริ่มมีทิศทางที่คลี่คลายมากขึ้น MEA ยังได้ดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า Energy For City Life ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายต่อการยกระดับศักยภาพของ MEA ในอนาคต โดยในด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้านั้น ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ในพื้นที่นำร่อง 9 ตารางกิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรี และรัชดาภิเษก มีการติดตั้ง Smart Meter จำนวน 33,265 ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ได้ อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ผ่านระบบ Online รวมถึงสามารถประมวลผลวิเคราะห์ เพื่อการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังประกอบด้วยการติดตั้งระบบบริหารจัดการที่มีการรับส่งข้อมูลได้แบบสองทาง (Two-Way Communication) มีคุณสมบัติในการ Monitor และแสดงผลได้ทันที (Real-Time) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าในการบริหารจัดการด้านพลังงาน และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์บริเวณที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น โดยทั้งหมดมีแผนดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้

นอกจากพื้นที่นำร่องกับประชาชนแล้ว MEA ยังมีโครงการติดตั้งระบบ Micro Grid ภายในพื้นที่อาคารสำนักงานของ MEA เพื่อควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน รวมถึงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ (BESS) ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Solar PV โดยคาดว่าผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การต่อยอดในด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าในรูปแบบ Grid Modernization ที่มีความทันสมัยให้กับประชาชน พร้อมกับ การช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ ที่เรียกว่า Carbon Neutrality ให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2593 ตามกรอบนโยบายของประเทศ

ขณะเดียวกัน MEA ยังมีบทบาทในการสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยในเดือน มิถุนายน 2565 มีผู้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วมีจำนวน 1,168 ราย คิดเป็นผลรวม Installed Capacity 6.63 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 185 ซึ่งปัจจุบันยังคงเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ โครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ที่ยังคงเปิดรับผู้สมัครในพื้นที่ MEA โดยมีเป้าหมายในปี 2565 ที่จำนวน 5 เมกะวัตต์ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งในกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ และบ้านอยู่อาศัยทั่วไป ยังสามารถใช้บริการ MEA ในการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อรองรับ การเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

ด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) ยังเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ MEA มุ่งเน้นให้เกิดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งตอบสนองแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยในปี 2565 เป็นวาระครบรอบ 10 ปี ที่ MEA ได้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน MEA ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเภท EV และ E-Bus การจัดทำ MEA EV Application สำหรับการชาร์จ และการเข้าถึงข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ไปจนถึงการส่งมอบ และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ล่าสุด MEA ได้ดำเนินโครงการ “มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.” ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ ในพื้นที่สาธารณะ ของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับการติดตั้งสถานีชาร์จได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้เงื่อนไขการติดตั้ง ในพื้นที่สาธารณะ หรือสำหรับประชาชนที่ต้องการติดตั้ง EV Home Charger เพื่อใช้งานส่วนบุคคล ก็สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำและบริการจากผู้เชี่ยวชาญของ MEA ได้ เนื่องจากการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ EV ของ MEA ที่สอดคล้องกับมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สถิติการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่ให้บริการของ MEA ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น คือ มีจำนวน 5.95 ล้านหน่วย คิดเป็นอัตราเติบโตขึ้นกว่า 20 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีอัตราเติบโตของจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่ม EV Charging Station เพิ่มสูงขึ้น คือ จำนวน 283 ราย มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 38 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน MEA ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพิ่มความปลอดภัย พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพ ซึ่ง MEA ได้ดำเนินโครงการรวมระยะทางทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 โดยปัจจุบัน มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่โครงการนนทรี รวมถึงบางส่วนของถนน สายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และสว่างอารมณ์ เป็นต้น ในส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีจำนวนทั้งสิ้น 174.1 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลด ความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน

ในด้านมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสายสื่อสาร MEA ยังได้วางแนวทางปฏิบัติในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้จาก สายสื่อสาร โดยกำหนดให้มีการจัดรถเวรตรวจสอบจุดเสี่ยงของสายสื่อสารประจำวัน เพื่อรวบรวมแจ้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้รับทราบ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการยื่นเรื่องต่อ กสทช. ในการพิจารณาปลดสายสื่อสารที่มีรูปแบบ Steel Messenger Wire หรือการมีส่วนประกอบของโลหะในการติดตั้งสายสื่อสาร และกำหนดให้ใช้สายสื่อสารที่มีคุณสมบัติทนไฟทดแทน นอกจากนี้ MEA ยังมีแผนจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ปี 2565 จำนวน 450 กิโลเมตร ที่บูรณาการร่วมกับ กสทช. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก และร่วมประสานงานผู้ประกอบการสายสื่อสารเพื่อรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งาน พร้อมปรับปรุงสายสื่อสารที่คงอยู่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามมาตรฐานที่ MEA กำหนด โดย MEA รับผิดชอบในการติดตั้งคอนเหล็กสำหรับพาดสายสื่อสาร เพื่อให้มีความเป็นระเบียบ ปลอดภัย สะดวก ต่อการบันทึกข้อมูลผู้พาดสาย และช่วยให้สามารถตรวจสอบผู้ลักลอบมาพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ง่ายมากขึ้น โดยขณะนี้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 72 กิโลเมตร ขณะที่แผนงานในอนาคต จะดำเนินการทั้งสิ้นรวม 1,500 กิโลเมตร ภายในปี 2567

สำหรับการดำเนินนโยบายในด้าน Smart Living เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตคนเมืองในการเข้าถึงบริการของ MEA ได้ทุกที่ทุกเวลา MEA ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการในการพัฒนาระบบบริการทั้งหมด ให้เป็น Fully Digital Service ภายในปี 2568 โดยในปัจจุบัน MEA ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการผ่านระบบ e-Service ในทุกช่องทาง ตั้งแต่ MEA Smart Life Application ที่จะเพิ่มฟังก์ชันการแจ้งเตือนไฟฟ้าดับบริเวณกว้างให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับรู้ในรูปแบบรายบุคคล โดยการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM ที่ MEA ใช้สั่งการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องในปัจจุบัน โดยจะเชื่อมโยงกับระบบแผนที่ GIS เพื่อระบุขอบเขตพื้นที่ไฟฟ้าดับ ทำให้ลดภาระการติดต่อสอบถามผ่าน MEA Call Center 1130 ได้ รวมถึงการเตรียมพร้อมฟังก์ชันรองรับ Smart Meter ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ในรูปแบบ Real-Time นอกจากนี้ยังมีโครงการ Virtual District รองรับระบบบริการผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น รองรับการยืนยันตัวตนออนไลน์ การรับและจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาระบบจ่ายงาน บันทึกผลการปฏิบัติงาน อนุมัติงานในระบบออนไลน์ผ่าน Smart Devices โดยจะมีการปรับปรุงช่องทาง MEASY เป็นศูนย์รับบริการให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในจุดเดียว ขณะเดียวกัน จะมีการเชื่อมโยงช่องทาง MEA Line Connect กับการฟังก์ชันการทำงาน ของ MEA Smart Life Application และ MEASY เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการของ MEA ได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากช่องทางการรับบริการด้านระบบไฟฟ้าที่มีมากขึ้นแล้ว MEA ยังมีบริการอื่น ๆ ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า อย่างการสมัครรับ MEA e-Bill ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารับเอกสารในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ e-mail เพื่อลดการใช้กระดาษ รวมถึงระบบ MEA Point ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับสิทธิพิเศษ และโปรโมชั่นต่าง ๆ จาก MEA อย่างเช่น กิจกรรมล่าสุด “เจิดจ้า ท้า Challenge” ที่จะมอบ MEA Point ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ ร้อยละ 10 ขึ้นไป จะได้รับ 3,000 Points คิดเป็นมูลค่า 300 บาท ซึ่งมีจำนวนรวมถึง 10,000 รางวัล นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมกับการช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ

ในด้านการประหยัดพลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ MEA ยังได้มีส่วนช่วยในการให้คำปรึกษา และให้บริการจัดการพลังงานในอาคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ MEA สามารถใช้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้ามาช่วยเหลือภาคเอกชนได้ โดยยังมีธุรกิจบริการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้า ธุรกิจบริการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ธุรกิจบริการยานยนต์ไฟฟ้า EV รวมถึงการจัดตั้งบริษัทในเครือของ MEA ที่ชื่อว่า MEA Smart Energy Solutions หรือ MEAei มุ่งเน้นการให้บริการด้าน Smart Energy ทั้งในด้านการให้คำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานอัจฉริยะแบบครบวงจร ยกตัวอย่างระบบที่สามารถให้บริการได้ เช่น ระบบ Smart Grid System ระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ไปจนถึงการให้บริการแบบครบวงจรในระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดย MEAei ยังคงดำเนินภารกิจที่จะช่วยตอบสนองความต้องการด้านการจัดการพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้กับภาคประชาชนได้มากขึ้น พร้อมกับช่วยส่งเสริมให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านธุรกิจ เพิ่มช่องทาง การลงทุนของภาคเอกชน เป็นความท้าทายของ MEA ในการทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมการจัดการพลังงานและกรอบแนวคิดของการตอบแทนสู่ภาคสังคม

จากปัญหาวิกฤตด้านพลังงานที่ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งในอดีต และปัจจุบัน MEA ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 2564 – 2565 MEA ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินโครงการ MEA Energy Awards ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร มีการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และมอบเงินทุนสนับสนุนให้อาคารได้ปรับปรุงการใช้พลังงาน ก้าวสู่การเป็นต้นแบบอาคารประหยัดพลังงาน และมีคุณภาพอากาศภายในอาคารได้ตามมาตรฐาน Indoor Air Quality หรือ IAQ โดยการมอบรางวัลครั้งล่าสุด มีอาคารให้ความสนใจเข้าร่วมรวม 145 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับตราสัญลักษณ์ MEA ENERGY AWARDS ประจำปี 2021 จำนวน 110 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์การค้า และ สำนักงาน ส่งผลให้ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง 6.87 ล้านหน่วยต่อปี ลดค่าไฟฟ้ากว่า 26 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 2,954 ตันต่อปี

เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon นั้น ล่าสุด MEA ยังได้มีความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และ Carbon Credit จัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit โดยเชื่อมต่อกับ Platform ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่น ๆ เพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ MEA มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการ ด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มอุตสาหกรรมได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศอย่างยั่งยืน

ในส่วนการพัฒนาสังคม และการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนนั้น MEA มีความภาคภูมิใจจากการรับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) รอบล่าสุด ประเภทผลงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากการดำเนินโครงการ MEA e-Fix ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ดูแลเรื่องไฟฟ้าในบ้าน ด้วยช่างผู้ชำนาญการจากชุมชน ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยสามารถเข้าร่วมโครงการช่างไฟฟ้ามืออาชีพเพื่อเข้ารับอบรมเสริมทักษะช่างไฟฟ้าอย่างเข้มข้น ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

อีกหนึ่งรางวัลที่ MEA มีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจเพียงหน่วยงานแรก และเป็นหน่วยงานเดียวในขณะนี้ที่ได้รับ ก็คือ รางวัลสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย (Best Employers Thailand) ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท คินเซนทริค ประเทศไทย (จำกัด) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของโลก และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) ถือเป็นการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ครอบคลุม 14 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลาง โดย MEA ได้รับเนื่องจากการเป็นองค์กรที่สร้างคุณภาพความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ดีแก่พนักงาน การเสริมสร้างค่านิยมองค์กร การส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองจนสามารถขับเคลื่อนไปสู่การให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเสริมทักษะใหม่ ๆ โดยเฉพาะในด้าน Data Science, Data Engineer และ Data Analytic เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของงานในปัจจุบัน รวมถึงการจัดทำแผน HR Pipeline ที่จะช่วยสร้างโอกาสในเส้นทางอาชีพให้กับพนักงานได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ที่สามารถวางมาตรการป้องกันได้อย่างรัดกุม ส่งผลให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในขณะที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

ด้านการแพร่ระบาด COVID-19 MEA ยังมีมารตรการต่อบุคคลภายนอก ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลสนามทุกแห่ง ทั้งด้านการออกแบบ และการติดตั้งระบบไฟฟ้า พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าและให้บริการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ MEA ได้บูรณาการให้ความร่วมมือสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ โดยมอบอาหารกล่องแก่ชุมชนในที่พักอาศัย พร้อมมอบอุปกรณ์สิ่งของจำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ เพื่อใช้ในการป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งในช่วง การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง MEA ได้ดำเนินนโยบายการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยล่าสุด จากข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 มีผู้ได้รับเงินแล้วทั้งสิ้น 2,363,893 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 6,442 ล้านบาท

MEA ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เพียงพอ ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านพลังงาน และคิดค้นนวัตกรรมการบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีความพร้อมที่จะร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living

[Advertorial]