NIA ดึง 6 พรรคการเมืองร่วมดีเบตโจทย์นวัตกรรม พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ชวนตัวแทนพรรคการเมืองร่วมดีเบตนโยบายนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยมิติการเมืองใหม่ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ – สังคมของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเผยนโยบายด้านนวัตกรรมกับการแก้ไขปัญหาของไทยตามแนวคิก 3C “Competitiveness – Corruption – Climate Change” ที่ผู้นำจำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ใกล้ถึงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองได้ออกนโยบายเพื่อสร้างและพัฒนาประเทศให้มีพัฒนาการในด้านเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการ สาธารณสุข การศึกษา และอีกหลายด้านตามบริบทวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป โดยการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น NIA เชื่อมั่นว่าควรนำ “นวัตกรรม” มาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน และต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่านวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทาดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยทางนวัตกรรมจำเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน ความมั่นคงในชีวิตได้อย่างแท้จริง 

6 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมดีเบตในครั้งนี้ ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย 

วรนัยน์ วาณิชกะ

วรนัยน์ วาณิชกะ ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้า แสดงความคิดเห็นว่า วาระเร่งด่วนของการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยคือการสร้างระบบราชการที่ดี ให้มีแนวคิด Good Governance ดังเช่นประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ที่มีระบบราชการที่ดีและทันสมัยมาก สำหรับปัจจุบันจะเห็นได้ว่าระบบราชการไทยยังไม่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้คนมากนัก ขางส่วนมีความล่าช้า ไม่ทันสมัย ซึ่งแนวทางที่จะต้องดำเนินโดยเร็วคือการสร้าง “GOVTECH หรือระยยเทคโนโลยีภาครัฐ” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เขื่อมกันเป็น ONE STOP SERVICE ทำทุกธุรกรรมได้โดยไม่ต้องเดินทางมาก นอกจากนี้ ยังต้องมีระบบเทคโนโลยีรัฐที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ แสดงถึงความโปร่งใส โดยเชื่อว่าหากได้ทำทันทีก็จะทำให้ชีวิตของประชาชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น 

รศ. (พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง

รศ. (พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า นโยบายนวัตกรรมที่จำเป็นและเร่งด่วนของประเทศไทยมี 3 ประเด็น คือ “การศึกษา” ที่ต้องกำหนดร่วมกันว่าควรมีทิศทางอย่างไร เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในบริบทโลก “การสร้างแต้มต่อให้กับสตาร์ทอัพและ SME” ซึ่งมีจำนวนมาก ให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตและร่วมกันสร้างรายได้ โดยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น หนุนภาครัฐให้มีการจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มคนเหล่านี้ให้มากกว่าที่ผ่านมา “การอัปสกิลและรีสกิล” คนในแต่ละพื้นที่ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดและภูมิภาค รวมถึงหนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ทุกคนสามารถทำสิ่งที่ตอบโจทย์กับบริบทเมือง 

แทนคุณ จิตต์อิสระ

แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ระบุว่า นโยบายเร่งด่วนที่ให้ความสำคัญในขณะนี้ คือ 3E “Economic Environment Energy” โดยจะเพิ่มในประเด็นของซอฟท์พาวเวอร์ที่เป็นคีย์หลักในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสังคมไทยและธุรกิจเพื่อสังคมให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของประเด็น BCG ที่เป็นเทรนด์หลักในแง่ของการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้รวมอยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความสัมพันธ์ที่สมดุลระกว่างมนุษย์และธรรมชาติ 

ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ปัจจุบันรายได้จากการวิจัยและพัฒนา มีเพียง 1.33% ต่อ GDP เท่านั้น จึงเสนอให้มีการเตรียมความพร้อมโครงสร้างทางการเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ทุกภาคส่วน พร้อมการศึกษาผ่านแพลตฟอร์ม ผ่านแนวคิด learn to earn และปลดล็อกศักยภาพรัฐบาลดิจิทัลที่มีรูปแบบ one stop service เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินงานกับหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ โครงการหรือระบบเกี่ยวกับกระเป๋าเงินดิจิทัลและบล็อคเชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เสนอนโยบายเร่งด่วน 3 ข้อที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาได้ คือ 1. ความเหลื่อมล้ำ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างดิจิทัลไอดี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐได้ง่ายและรวดเร็ว โดยไม่ต้องลงทะเบียนและร้องขอตามสิทธิประชาชน พร้อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการแพทย์ทางไกล การศึกษา และการเรียนรู้ออนไลน์ 2. ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีสิทธิในการโหวตการใช้งบประมาณ การนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มความโปร่งใส ประชาชนสามารถเสนอถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรงผ่านแอผพลิเคชันครบจบในที่เดียว และ 3. การสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงจะมีการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณภาครัฐอุดหนุนด้านการวิจัย 

เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พื้นฐานของนวัตกรรมคือคน ดัวนั้นการศึกษาต้องเปลี่ยนผลลัพธ์ ต้องจับต้องได้ มายด์เซ็ทของคนก็ต้องเปลี่ยนด้วยการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม ต่อมาคือการส่งเสริมให้ลงมือทำ เรื่องด้วยอุปกรณ์ที่มีน้อย เอกชนต้องทำเอง ภาครัฐต้องสร้างหรือสนับสนุนเครื่องมือเหล่านี้ให้ประชาชน และต้องสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ รวมถึงต้องมีเงินลงทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ