PM2.5 ยังน่าห่วง! กทม.เกินค่ามาตรฐาน 70 พื้นที่ สูงสุดในเขตสาทร

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครขอสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2566 เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 50-100 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 62.7 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพบางพื้นที่

ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 52-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 7?? 0?? พื้นที่ สูงสุดในพื้นที่ เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ : มีค่าเท่ากับ 100 มคก./ลบ.ม.

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในวันที่ 16 เม.ย. 2566 (วันนี้) จะมีสภาพอากาศปิด ทำให้ฝุ่นPM2.5 สามารถระบายได้จำกัด และมีแนวโน้มการสะสมตัวของฝุ่นPM2.5เพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยในระยะเวลาสั้น หลังจากช่วงวันที่ 17-23 เม.ย. 2566 การระบายอากาศจะดีขึ้น ช่วงนี้บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และทะเลจีนใต้ในวันนี้

ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ในช่วงวันที่ 16 – 22 เม.ย. 2566 สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดีถึงปานกลาง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่** อย่างไรก็ตามวันที่ 16-17 เม.ย. 2566 อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ จึงควรเพิ่มการเฝ้าระวัง จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร