กรมคุก ชี้เยี่ยม “ทักษิณ” ได้ หลังถูกจัดเป็น “นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง” ยันชัด! ไม่มีห้องแอร์

กรมราชทัณฑ์ ระบุ ญาติ-ทนายเข้าเยี่ยม “ทักษิณ” ได้หลังถูกจัดเป็น “นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง” ยันชัด แดนพยาบาลไม่มีห้องแอร์

ดร.วริศรา ศิริสุทธิเดชา เลขานุการกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีการเตียมความพร้อมในการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 ส.ค. เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการดูแลความปลอดภัย รวมไปถึงความสะดวกตามสมควรว่า หลังจากกรมราชทันณฑ์รับตัวผู้ต้องขัง จะมีการคัดแยกเพื่อกักตัวตรวจหาเชื่อโควิด-19 เมื่อครบ 10 วัน

ทางครอบครัวและทนายความจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามช่วงเวลาที่กําหนด และเมื่ออดีตนายกฯ เข้าสู่กระบวนการของราชทัณฑ์เสร็จสิ้น จะมีการจัดลำดับชั้นนักโทษ “เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง” ซึ่งญาติและทนายความสามารถติดต่อเข้าเยี่ยมได้ตามขั้นตอน

ส่วนจะอยู่แดนขังใดนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจาก ณ ตอนนี้ราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับทราบหมายศาลหรือคำสั่งศาลที่จะแจ้งมา และหากมีโรคประจำตัวใดๆที่มีการรับรองโดยแพทย์ กรมราชทัณฑ์ก็จะปฏิบัติตามระเบียบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง โดยพิจารณาเอกสารทางการแพทย์เหล่าประกอบ ก่อนที่แพทย์ประจำเรือนจำจะใช้ดุลยพินิจในการประเมินสุขภาพผู้ต้องขัง เพื่อคัดกรองว่าผู้ต้องขังรายดังกล่าวจะต้องเข้าไปรักษาตัวภายในหอผู้ป่วยโรคหรือเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

นอกจากนนี้ ดร.วริศรา ยืนยันว่าแดนพยาบาลของเรือนจำนั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เป็นเพียงห้องพัดลมเท่านั้น อีกทั้งในส่วนของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็ไม่มีแอร์เช่นเดียวกัน จะมีเพียงห้องผู้ป่วยรวมที่ประกอบไปด้วยเตียงผู้ป่วยที่วางเรียงกัน และเป็นห้องพัดลม อย่างไรก็ตามเรื่องหอผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับโรคนั้นๆ ด้วย เช่น กรณีผู้ต้องขังป่วยวัณโรค จะมีหอผู้ป่วยแยกต่างหาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้ต้องขังรายอื่นๆ

ส่วนห้องแอร์นั้น ดร.วริศรา ระบุว่ามีอยู่จริง แต่ห้องดังกล่าวเป็นห้องทํางานของเจ้าหน้าที่ของฝ่ายการศึกษา ซึ่งผู้ต้องขังมีได้รับการพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความสามารถในการรับหน้าที่ช่วยสอนหนังสือ หรือช่วยเหลือเรื่องงานเอกสาร จึงจะได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา ซึ่งผู้ต้องขังจะเข้ามาช่วยทํางานในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งช่วงกลางวัน โดยที่ผ่านมาไม่มีผู้ต้องขัง

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน นอกจากฝ่ายการศึกษาแล้วผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เป็นผู้ช่วยเหลือหรือผู้ช่วยงานของเจ้าหน้าที่นั้น สามารถทำหน้าที่ได้หลายส่วน เช่น ฝ่ายงานสูทกรรม รับผิดชอบด้านโภชนาการ จัดทำอาหารคาว-หวานให้กับผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ฝ่ายร้านค้าสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ซึ่งจะเป็นร้านขายสินค้า-จำหน่ายอาหาร โดยญาติผู้ต้องขังสามารถซื้อฝากผู้ต้องขังได้ เป็นต้น