คนสื่อชวนจับตาก่อนเลือกตั้ง’66 พรรคการเมืองจัดเต็มสงครามข่าว – หาเสียง

Highlight

  • เสวนา Media Forum ครั้งที่ 18 หัวข้อ “จับไต๋การเมืองช่วงฝุ่นตลบก่อนเลือกตั้ง: บทบาทสื่อและผู้บริโภคที่ควรร่วมมือกัน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องคึกฤทธิ์ ปราโมท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • สิ่งที่พบได้ในช่วงการเลือกตั้งที่ต้องจับตามอง คือคนที่มีฐานะเป็นผู้มีอำนาจในรัฐบาลและมีตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมือง เวลาลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน เขาเหล่านั้นไปในฐานะใด
  • การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีความดุเดือดในรอบหลายปี เพราะมีเดิมพันสูงมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนรู้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะชนะ กระทั่งมองข้ามไปคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องประสบการณ์อธิบายให้ผู้คนเข้าใจ
  • การทำงานข่าวยุคนี้ ด้านหนึ่งก็มีความง่ายเพราะพรรคการเมืองหรือนักการเมืองมีการทำข่าวสำเร็จรูป (Pree Release) แต่ความยากคือการที่ผู้สื่อข่าวต้องฉุกคิดว่าในการส่งข่าวมาให้นั้นเป็นการปล่อยข่าวหรือไม่ หากหยิบเพียงชิ้นข่าวนั้นมานำเสนอก็อาจเป็นการรายงานเพียงด้านเดียว สื่อก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการปล่อยข่าวได้ 
  • แม้จะไม่ได้ส่งนักข่าวไปลงพื้นที่ ก็อาจต้องหาข้อมูลจากทางอื่น และองค์กรต้นสังกัดต้องย้ำเรื่องการรักษาสมดุลและความเป็นกลาง ทั้งนี้ การรักษาระยะห่างระหว่างคนทำงานสื่อกับฝ่ายการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค โคแฟค (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา Media Forum ครั้งที่ 18 หัวข้อ “จับไต๋การเมืองช่วงฝุ่นตลบก่อนเลือกตั้ง: บทบาทสื่อและผู้บริโภคที่ควรร่วมมือกัน” ณ ห้องคึกฤทธิ์ ปราโมท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี, สมฤดี ยี่ทอง บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี, ดาวี ไชยคีรี ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และวราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการ คมชัดลึก และข่าวข้นคนข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เป็นผู้เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้

รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและการเมืองมาอย่างยาวนาน ในทางการเมืองก็มีผู้เข้าไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ครั้ง

“แน่นอนอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งเป็นหัวใจที่สำคัญมากของประชาธิปไตย ในช่วงใกล้เลือกตั้งจึงมีข่าวร้อนแรงในฝั่งการเมืองพอสมควร ฉะนั้นบทบาทของสื่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากจะต้องนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างแล้ว บทบาทอีกหนึ่งอย่างของสื่อในยุคสมัยนี้ คือการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากและง่ายขึ้น” รศ.ดร.สุรัตน์กล่าว 

ด้านชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาฝุ่นตลบของจริง เช่นในกรณีที่ยังไม่รู้ว่านักการเมืองคนนี้อยู่พรรคไหน วันนี้อยู่พรรคหนึ่ง ตอนใกล้เลือกตั้งก็อาจจะไปอยู่อีกพรรคหนึ่ง หรือการเมืองที่ยังมีเรื่องของคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งตัวเลขของการจัดตั้งรัฐบาล ตัวเลขของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เป็นตัวแปรซึ่งจะบอกว่าไม่มีบทบาทคงไม่ได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชน ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสื่อ ก็จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจ 

“หลายครั้งเวลารายงานข่าวการเลือกตั้ง เราก็จะรายงานแบบที่ตำราของต่างประเทศเรียกว่า​ “การรายงานแบบม้าแข่ง” ก็คือรายงานว่าพรรคไหนจะชนะ พรรคไหนจะได้เสียงมากกว่ากัน แต่ไม่ค่อยรายงานเรื่องของนโยบายหรือแนวคิดของแต่ละพรรค ที่เมื่อเข้ามาแล้วจะบริหารประเทศอย่างไร จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพี่น้องประชาชนอย่างไร แต่ช่วงหลังมีเรื่องของนโยบายมาขายกัน เป็นลักษณะนโยบายประชานิยม หรือนโยบายขายฝัน มันเป็นไปได้หรือไม่ได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ” ชวรงค์กล่าว 

ขณะที่ดาวี ไชยคีรี ผู้สื่อข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า การทำงานข่าวยุคนี้ ด้านหนึ่งก็มีความง่ายเพราะพรรคการเมืองหรือนักการเมืองมีการทำข่าวสำเร็จรูป (Pree Release) ส่งให้ผู้สื่อข่าวทุกวัน แต่ความยากคือ การที่ผู้สื่อข่าวต้องฉุกคิดว่าในการส่งข่าวมาให้นั้น เป็นการปล่อยข่าวหรือไม่ หรือผู้สื่อข่าวก็มีข้อจำกัดในการสอบถามเพิ่มเติม เมื่อเทียบกับการไปสัมภาษณ์แบบเจอหน้ากัน เรื่องนี้เป็นความท้าทายของผู้สื่อข่าว ที่หากหยิบเพียงชิ้นข่าวนั้นมานำเสนอก็อาจเป็นการรายงานเพียงด้านเดียว สื่อก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในการปล่อยข่าวได้ นอกจากนี้ สิ่งที่พบได้ในช่วงการเลือกตั้งที่ต้องจับตามอง คือคนที่มีฐานะเป็นผู้มีอำนาจในรัฐบาลและมีตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมือง เวลาลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน เขาเหล่านั้นไปในฐานะใด และจากที่ลงไปทำข่าว ก็พบว่ามีการหาเสียงในเวลาราชการ 

สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มองว่า ปัจจุบันมีการทะลักของข่าวจากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองจำนวนมาก ซึ่งนี่คือความท้าทายของคนทำงานสื่อ ที่บางครั้งดูเหมือนว่านักข่าวจะกลายเป็นประชาสัมพันธ์หรือพีอาร์ให้ เพราะฝ่ายการเมืองจะไม่ส่งข่าวมุมลบให้แน่นอน ดังนั้น นักข่าวจำเป็นต้องคอยตรวจสอบ แม้บ้างครั้งแหล่งข่าวอาจรู้สึกโกรธนักข่าว แต่นักข่าวจำเป็นต้องหาวิธีมาพูดคุยกับแหล่งข่าว ทั้งนี้ ยังมีความพยายามของพรรคการเมืองที่จะเข้าถึงตัวบรรณาธิการเพื่อฝากข่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาระยะห่างระหว่างคนทำงานสื่อกับฝ่ายการเมือง 

ในส่วนของสมฤดี ยี่ทอง บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ทุกช่องน่าจะมีปัญหาเหมือนกัน คือจำนวนนักข่าวลดลง ในขณะที่พรรคการเมืองมีจำนวนเท่าเดิม หรืออาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น กอง บก. จึงจำเป็นต้องเลือก โดยทั่วไปก็จะเป็นพรรคหลัก ๆ ตามความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งพรรคอื่น ๆ แต่อีกด้านหนึ่งพรรคการเมืองก็ต้องปรับตัว ทำข่าวหรือคลิปวิดีโอส่งให้สื่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อจำเป็นต้องตระหนักว่าหากเป็นการส่งข่าวทางเดียว ก็จะได้แต่ภาพด้านเดียว ดังนั้น แม้จะไม่ได้ส่งนักข่าวไปลงพื้นที่ ก็อาจต้องหาข้อมูลจากทางอื่น และองค์กรต้นสังกัดต้องย้ำเรื่องการรักษาสมดุลและความเป็นกลาง

ด้านเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ชี้ว่า การเมืองหน้าฉากกับหลังฉากเป็นคนละเรื่องกัน และส่วนใหญ่เรื่องจริงมักอยู่ด้านหลัง ในขณะที่ด้านหน้าคือการเรียบเรียงเพื่อตั้งใจส่งสัญญาณให้ไปกระทบอีกฝ่ายหรือประเมินเสียงตอบรับ (Feedback) พร้อมชี้ว่าภาพรวมการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีความดุเดือดในรอบหลายปี เพราะมีเดิมพันสูงมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนรู้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะชนะ กระทั่งมองข้ามไปคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องประสบการณ์อธิบายให้ผู้คนเข้าใจ 

“กอง บก. ก็เหนื่อย รอบนี้เหนื่อยกับสงครามข่าวที่มีจำนวนมาก แล้วการเลือกตั้งครั้งนี้มันเดิมพันแปลก ๆ คือเหมือนกับเลือกตั้งไปก็ไม่ได้คิดว่าจะจบแค่การบริหาร มันมีเดิมพันไกลมาก บางคนก็จะกลับมาติดคุก-ไม่ติดคุก บางคนต้องรักษาอำนาจต่อ บางคนต้องผนึกเครือข่าย คือผมคิดว่าตอนนี้มันเดิมพันเยอะ เพราะฉะนั้นทุกคนลงกันเต็มที่ ดังนั้นการสื่อสารเต็มรูปแบบ สื่อก็ด้านหนึ่ง ไม่นับ IO มีทุกอย่าง” เสถียรสะท้อน 

“อย่างล่าสุดให้จับตามอง บอกว่าโคราชจะมีปราศรัยใหญ่ จะมีคนมาฟัง 4-5 หมื่นคน รู้ได้อย่างไรว่าจะมีคนมาฟังจำนวนนั้น  ซึ่งแปลว่ามีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้ภาพแบบนี้มันเกิดขึ้น คือถึงแม้ว่าภาพนั้นมันจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ว่าสารนั้นมันก็ได้เข้าไปแล้ว ทีนี้เวลาเรารายงานว่าใครไปทำอะไร เราก็จะสอดแทรกแง่มุมข้อสังเกตตรงนี้เข้าไปตลอดเพื่อให้ประชาชนคนรับสื่อรู้ทัน” วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการ คมชัดลึก และข่าวข้นคนข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี กล่าว

วราวิทย์เสริมว่า อย่าปฏิเสธว่าการเมืองไม่ใช่เกม และนักการเมืองที่บอกว่าไม่ได้เล่นเกม จริง ๆ ก็กำลังเล่นอยู่ ได้คุยกับแขกรับเชิญที่เป็นนักการเมืองมามาก บางทีหน้าฉากอย่างหนึ่ง หลังฉากก็อีกอย่างหนึ่ง แต่การนำเรื่องหลังฉากมาถามกันตรง ๆ หน้าฉากก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จำเป็นต้องหาวิธีการอื่น ๆ มาใช้ บางครั้งอาจไม่ได้สัมภาษณ์นักการเมืองคนนั้น แต่ก็ใช้การนำเสนอข้อมูลที่ได้รับการบอกเล่า มาเล่าผ่านหน้าจอเพื่อให้ทุกคนเท่าทัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบใคร สิ่งที่หวังที่สุดคือ อยากให้ประชาชนมีความเท่าทันเกมการเมือง 

ในตอนท้าย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวปิดการเสวนา ระบุว่า งานนี้เป็นเวทีที่มีคุณค่าและน่าสนใจ ซึ่งในช่วงเลือกตั้งนี้โคแฟคร่วมกับภาคีทั้งในและต่างประเทศ เตรียมทำระบบตรวจสอบข้อมูลเท็จ หลอกลวง สร้างความเกลียดชัง ใส่ร้ายกันและยินดีให้ทุกสื่อใช้ประโยชน์และเข้ามาร่วมมือกัน

“อย่างที่ทุกท่านพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันเดิมพันสูง ทุกท่านพูดว่านักการเมืองเขาก็เต็มที่ ตัวเงินก็ไม่น้อย แต่ในนามประชาชนก็เสี่ยงสูงเหมือนกัน เชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทเต็มรูป 100% มันจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เป็นระดับประเทศ ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การทำหน้าที่ของสื่อออนไลน์ รวมทั้งการทำหน้าที่ของประชาชนจะมีความสำคัญมาก เวทีวันนี้เป็นเวทีเริ่มต้น คิดว่าจะต้องจับไต๋การเมืองกันต่อไป” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวปิดท้าย