คุยเรื่องเมืองและศิลปะ กับรองผู้ว่าฯ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ”

Highlight

  • Colorful Bangkok 2022 เทศกาลศิลปะ แสงสี และดนตรีในกรุงเทพฯ จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ” มีเป้าหมายให้กรุงเทพฯ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมการกระตุ้นยอดขายให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
  • ศิลปะไร้พรมแดนและครอบคลุมไปถึงงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย นั่นเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่กรุงเทพฯ ต้องรวบรวมและทำให้เข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งกรุงเทพฯ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนและสร้างความร่วมมืออย่างทั่วถึง พร้อมช่วยประชาสัมพันธ์งานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่าง 3 เดือนของเทศกาลอย่างเต็มที่
  • หัวใจของ “Festival Economy” คือยกระดับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ พร้อมกับสร้างเศรษฐกิจให้กับเนื้อเมืองหรือย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดเทศกาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตลอดถึงการต่อยอดเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ   

“กรุงเทพมหานคร” ถือเป็นเมืองหลวงที่มีสีสันมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งในด้านอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัสตลอดทั้งปี และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยอย่างมากมายมหาศาล ทว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ทำให้เมืองมากสีสันแห่งนี้เงียบเหงาลงไปอย่างน่าเศร้า การทำให้กรุงเทพฯ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงกลายเป็น “เป้าหมายสำคัญ” ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการคนล่าสุดของกรุงเทพฯ​ เกิดเป็นเทศกาล “Colorful Bangkok 2022” ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ” มีเทศกาลที่น่าสนใจตลอดทั้งปีเพื่อคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการกระตุ้นยอดขายให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

เทศกาล Colorful Bangkok 2022 เป็นความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรี และแสงสี เพื่อทำให้กรุงเทพฯ กลับมามีสีสันและชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่ง ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ผู้เป็นกำลังสำคัญของการจัดเทศกาลยิ่งใหญ่ในช่วงปลายปีครั้งนี้ 

กรุงเทพฯ เมืองแห่งสีสัน 

“เกิดจากความท้าทายหลายอย่าง เช่น เราเพิ่งผ่านวิกฤตโควิด-19 เราเพิ่งเปิดประเทศ เป็นปีแรกที่เราจะได้ลอยกระทง เป็นปีแรกที่เราจะได้ออกมาเจอหน้าคน และเป็นปีแรกที่จะมีนักท่องเที่ยวเกิน 10 ล้านคน ผมคิดว่าทุกคนพร้อมใจอยากจัดอะไรบางอย่าง ดังนั้น หน้าที่เมืองคงไม่ใช่คนที่มาจัดอีกคนหนึ่ง แต่หน้าที่ของเมืองคงเป็นคนอำนวยความสะดวกมากกว่า เป็นคนดึงคนซ้ายมาเจอคนขวา ดึงคนหน้ามาเจอคนหลัง ดึงคนที่เก่งด้านไฟมาเจอคนเก่งคนตรี ดึงคนเก่งสถานที่มาเจอคนที่เก่งเรื่องการทำศิลปะ” ศานนท์เริ่มต้นอธิิบาย 

เทศกาล Colorful Bangkok 2022 คือเทศกาลศิลปะที่จัดครอบคลุมตลอดทั้ง 3 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะ จัดกิจกรรมให้คนกรุงเทพฯ คนจากจังหวัดอื่น และนักท่องเที่ยว ได้สัมผัสงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ชมแสงไฟตามสถานที่สำคัญทั่วเมือง และสนุกสนานไปกับดนตรีที่จะจัดขึ้นในสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมี กทม.​ เป็นผู้ช่วยเหลือประสานงานและให้การสนับสนุน 

“ผมว่าอันนี้คือบทบาทของ กทม. ซึ่งเราก็ทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม เราเชื่อว่า 3 เดือนนี้เป็น 3 เดือนที่สำคัญที่สุดของปี 2022 จนไปถึงต้นปี 2023 เพราะคือปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราต้องดึงนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด แข่งกับเมืองอื่น เพราะกรุงเทพฯ ​เรามีอะไรที่มีสีสัน และคงไม่มีช่วงไหนที่เมืองจะมีสีสันได้เท่าช่วง 3 เดือนนี้แล้ว” ศานนท์กล่าว

ศิลปะเชื่อมคน เชื่อมเมือง 

ศิลปะไร้พรมแดนและครอบคลุมไปถึงงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เช่น จิตรกรรม กราฟิตี้ ร้องเพลง เต้นรำ เป็นต้น ซึ่งความหลากหลายของงานศิลปะนี้เอง ที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่กรุงเทพฯ ต้องรวบรวมและทำให้เข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งศานนท์ระบุว่า กรุงเทพฯ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนและสร้างความร่วมมืออย่างทั่วถึง พร้อมกับช่วยประชาสัมพันธ์งานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่าง 3 เดือนของเทศกาลอย่างเต็มที่ 

“ศิลปะกว้างเพียงพอที่จะห่อหุ้มทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น แล้วเราก็เชื่อว่าต้องมีสักเดือนที่เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็น soft power เราพูดถึงอะไรที่จับต้องได้มาเยอะ แต่ว่าบางทีศิลปะก็เป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก เราในฐานะเมือง เราจึงต้องดึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มาเป็นธีมให้ได้ แล้วมันก็อาจจะเป็นจิตวิญญาณของหลาย ๆ คน ผมคิดว่าคนที่ขับเคลื่อนด้วยศิลปะมีเยอมาก และสังคมก็ขับเคลื่อนด้วยการอยู่กันแบบนี้ ดังนั้น เมืองไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่เมืองคือผู้คน ผู้คนขับเคลื่อนและมีจิตวิญญาณที่ห่อหุ้มด้วยศิลปะ และศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องขับเคลื่อนและส่งเสริม” ศานนท์ชี้ 

ศิลปะเพื่อเศรษฐกิจของเมือง 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าปากท้องต้องเดินตลอด งานเทศกาลอะไรแบบนี้ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น และมันจะทิ้งคำถามบางอย่างเอาไว้มากกว่า อย่างตอนที่เราจัดกรุงเทพกลางแปลง มันก็ทิ้งคำถามว่า แล้วอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตอนนี้เป็นอย่างไร พอเราเห็นข้อนี้ เราก็เอางานเทศกาลมาจุดประกาย เราเอางานเทศกาลมาทำให้คนเห็นว่า มันมีรูปแบบของการดูหนังแบบนี้ด้วย ผมว่าก็คล้าย ๆ กัน Colorful Bangkok 2022 อาจจะเป็นตัวจุดประกายให้อุตสาหกรรมสตรีทอาร์ต อุตสาหกรรมละคร อุตสาหกรรมเทศกาลศิลปะชุมชน” ศานนท์ระบุ 

นอกเหนือจากการ “จุดประกาย” คำถามต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์แล้ว กรุงเทพมหานครก็ตั้งเป้าที่จะยกระดับอุตสาหกรรมนั้น ๆ พร้อมกับสร้างเศรษฐกิจให้กับเนื้อเมืองหรือย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดเทศกาลที่เกิดขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตลอดถึงการต่อยอดเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นหัวใจของ “Festival Economy” ที่ต้องดำเนินต่อไป 

“เราคงไม่หยุดระดับเมือง เราต้องไประดับนานาชาติ แล้วเราต้องไปในระดับโลก ผมว่าเราต้องตั้งเป้าแบบนั้น ผมคิดว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพสูงมาก เราเชื่อเหลือเกินว่าปีหน้าหรือปีต่อไป ยังไงเราต้องเป็นระดับโลก เราต้องปักหมุดให้ทั้งโลกต้องมากรุงเทพฯ มันต้องเกิดขึ้นแน่” ศานนท์กล่าวปิดท้าย

  • “Colorful Bangkok 2022” ช่วงเวลาสีสันจากงานศิลปะ แสงสี และดนตรี ทั่วกรุงเทพฯ 3 เดือนเต็ม
  • Colorful Bangkok 2022: ครบรอบ 20 ปี “เทศกาลละครกรุงเทพ” การแสดงจัดเต็ม 30 กว่าเรื่อง
  • ชวนเที่ยว “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” จาก “ผี” สู่ “พุทธ” ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนฯ
  • ชวนเที่ยววัด (ลับ) ย่านบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี สัมผัสความงาม “วัดสวนสวรรค์ – วัดพระยาศิริไอยศวรรค์”