จนท.แล็บยังฮือฮา ครั้งแรกพบ “มุกเมโล” ในแหล่งน้ำจืด คนเจอเชื่อปู่อือลือประทานให้

พบ “มุกเมโล” นับเป็นครั้งแรกที่พบในหอยจากแหล่งน้ำจืด แม่ซื้อหอยเชอรี่มาต้มกินกับส้มตำ ลูกชายเคี้ยวเจอฟันแทบหลุด เชื่อปู่อือลือประทานให้

วันนี้ (7 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ พบก้อนเหมือนไข่มุกสีส้ม อยู่ในหอยเชอรี่จึงรีบเดินทางไปพิสูจน์ที่บ้านเลขที่ 556 หมู่11 บ้านโนนสว่างเหนือ ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ พบกับเจ้าของบ้าน 2 สามีภรรยาและลูกชาย ทราบชื่อ นายพูนศักดิ์ บุญงาม อายุ 39 ปี และ นางทองสุข บุญงาม อายุ 38 ปี และนาย พูนสวัสดิ์ บุญงาม อายุ 20 ปี บุตรชาย

นางทองสุข เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า หลายเดือนก่อน ตนเองได้สั่งซื้อหอยเชอรี่สดจากญาติในราคา 100 บาท ซึ่งหอยเชอรี่นี้ก็เก็บมาจากอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง อยู่ในแหล่งน้ำตรงข้ามกับเกาะดอนแก้วดอนโพธิ์ ที่นักท่องเที่ยวมักเดินทางมากราบไหว้ของพรจากปู่อือลือบนเกาะแห่งนี้

ตนเองก็ได้นำหอยเชอรี่นั้นมาต้มกินกับส้มตำ ขณะที่กำลังกินอยู่นั้น นายพูนสวัสดิ์ ลูกชาย ได้เคี้ยวถูกหัวหอยฟันแทบหักนึกว่าเป็นก้อนหินเลยคายออกมาดู พบเป็นก้อนรูปร่างกลมสีส้มตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรก็เลยเก็บไว้แล้วก็เล่าให้เพื่อนบ้านฟัง เพราะปกติไม่เคยได้ยินว่ามุกเมโลมีอยู่ในหอยเชอรี่ตามแหล่งน้ำจืด ส่วนมากจะอยู่ในหอยหวานซึ่งเป็นน้ำเค็ม

ลูกสาวจึงแคปหน้าจอจากโทรศัพท์มาให้ดู มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกันมาก เพื่อนบ้านก็เลยแนะนำให้ส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทดสอบอัญมณี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเป็นมุกประเภทใด

และผลออกมาวันที่ 6 ก.ย.นี้ ปรากฏว่าเป็นมุกเมโลจริง เม็ดมีลักษณะกลม สีส้ม น้ำหนัก 0.36 กรัม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 16-17 มม. ระบุแหล่งที่มาว่าเป็น สายพันธุ์ธรรมชาติ ทางเจ้าหน้าที่ยังบอกว่า ถือเป็นครั้งแรกที่พบไข่มุกเมโล ในหอยเชอรี่แหล่งน้ำจืด

โดยความคิดส่วนตัวของตนเองคิดว่าปูอือลือคงจะมาประทานพรให้ เพราะตนเคยบนบานอธิฐานให้ปู่อือลือช่วยเหลือ เนื่องจากทำมาหาเงินทองยาก และตนก็นับถือกราบไหว้ท่านเป็นประจำอยู่แล้ว และหอยเชอรี่ได้มาจากอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตนเองก็จะเก็บรักษาไว้ แต่ถ้ามีใครสนใจ ก็สามารถสอบถามกับตนเองได้

สำหรับ บึงโขงหลง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกที่มีความสำคัญระหว่างประเทศลำดับที่ 1,098 ของโลก มีพื้นที่ 13,800 ไร่ ตั้งอยู่พื้นที่อำเภอบึงโขงหลงและอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ตอนใต้ของบึงมีห้วยน้ำเมาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสงครามซึ่งไหลหลงสู่แม่น้ำโขง มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง

จากการศึกษาพบพืชน้ำอย่างน้อย 75 ชนิด ชนิดพันธุ์พืชบก 256 ชนิด พันธุ์ปลา 64 ชนิด นก 27 ชนิด อาศัยอยู่ ในช่วงฤดูหนาวบึงโขงหลงก็จะกลายเป็นที่พักอาศัยของนกอพยพตามเส้นทาง The eartern asia flyway มากกว่า 30 ชนิดอีกด้วย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ WWF ประเทศไทย