ทำความรู้จัก “ไซยาไนด์” สารไร้สี และยาพิษสุดฮิตในนิยายฆาตกรรม

Highlight

  • โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) มีลักษณะเป็นเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว มีกลิ่นจาง ๆ คล้ายอัลมอนด์ สามารถละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี จึงง่ายที่จะใช้ผสมในเครื่องดื่มที่มีกลิ่น เช่น ชา กาแฟ หรือสุรา
  • อาการของคนที่ได้รับพิษไซยาไนด์จะคล้ายกับคนที่เดินทางไกลหรือปีนภูเขาสูง และมีอาการร่างกายอ่อนแรง สับสน พฤติกรรมผิดปกติ นอนมากเกินไป หายใจสั้น ปวดหัว เวียนหัว อาเจียน ปวดท้อง และรุนแรงจนเสียชีวิต 
  • การใช้ไซยาไนด์เป็นสารพิษในสังหารศัตรู มีมาตั้งแต่สมัยสงครามฝรั่งเศสปรัสเซีย (เยอรมัน) ระหว่างปี 1870 – 1871 รวมถึงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกใช้ในการทำอัตวินิบาตกรรมของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายคน
  • ยอกาธา คริสตี ราชินีแห่งนิยายนักสืบ ผู้สร้างตัวละครนักสืบอย่างเออร์กูล ปัวโรต์ หรือมิสมาร์เปิล คือผู้ที่ทำให้ไซยาไนด์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

จากกรณีข่าวของหญิงสาวคนหนึ่งเป็นลมวูบขณะไปทำบุญกับเพื่อนสนิท ก่อนเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในเวลาต่อมา ทำให้ครอบครัวรู้สึกติดใจสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนที่แพทย์จะพบว่ามีสารพิษกลุ่มไซยาไนด์อยู่ในเลือดของผู้เสียชีวิต จึงนำไปสู่สืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็น “การฆาตกรรม” โดยฝีมือของเพื่อนผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ยังตรวจพบขวดไซยาไนด์สารเคมีอันตรายภายในบ้านของผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าว ซึ่งได้รับคำยืนยันในเวลาต่อมาว่าเป็น “โพแทสเซียมไซยาไนด์บริสุทธิ์ 100%” ล่าสุดพบว่ายังมีเหยื่อที่เสียชีวิตในลักษณะที่คล้ายกัน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยคนนี้อีกหลายคน

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียชีวิต ก็ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักโพแทสเซียมไซยาไนด์ สารเคมีพิษร้ายแรง ไม่มีสี ที่ใช้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้เสียชีวิต และถูกใช้เป็นยาพิษสุดฮิตในนิยายนักสืบฆาตกรรม

ละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี 

โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) มีลักษณะเป็นเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ดีมาก มีกลิ่นจาง ๆ คล้ายอัลมอนด์ จัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง ได้รับเพียง 200 – 300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็ส่งผลให้เสียชีวิตอย่างแน่นอน โดยสารชนิดนี้สามารถละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี จึงง่ายที่จะใช้ผสมในเครื่องดื่มที่มีกลิ่น เช่น ชา กาแฟ หรือสุรา 

โพแทสเซียมไซยาไนด์เป็นสารยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ รวมทั้งยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดทีฟฟอสโฟรีเลชัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างพลังงาน และเกิดภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก ผิวหนังเกิดผื่นแดง เนื่องจากเนื้อเนื่อไม่สามารถใช้ออกซิเจนจากเลือดได้ ต่อมาผู้ป่วยจะมีหมดสติ อาจมีภาวะชัก และเสียชีวิตจากภาวะพร่องออกซิเจน 

อาการของคนที่ได้รับพิษไซยาไนด์จะคล้ายกับคนที่เดินทางไกลหรือปีนภูเขาสูง และมีอาการร่างกายอ่อนแรง สับสน พฤติกรรมผิดปกติ นอนมากเกินไป หายใจสั้น ปวดหัว เวียนหัว อาเจียน ปวดท้อง หรือในบางกรณี ถ้าผิวหนังได้รับพิษจากไซยาไนด์ ก็อาจทำให้ผิวบริเวณนั้นกลายเป็นสีชมพูหรือแดง อย่างไรก็ตาม การตรวจว่าได้รับพิษไซยาไนด์หรือไม่นั้นเป็นเรื่องยาก ทำได้จากการดูสภาพแวดล้อมที่คน ๆ นั้นอาศัยอยู่ก็อาจจะได้ผลมากกว่าการสังเกตจากอาการ

ไซยาไนด์สังหาร

จากข้อมูลของเฟสบุ๊กแฟนเพจ “สาระเรื่อยเปื่อย” ระบุว่า การใช้ไซยาไนด์เป็นสารพิษในสังหารศัตรู มีมาตั้งแต่สมัยสงครามฝรั่งเศสปรัสเซีย (เยอรมัน) ระหว่างปี 1870 – 1871 รวมถึงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารนาซีได้ใช้ไซยาไนด์เป็นสารพิษในห้องรมแก๊สสังหารเชลยศึก ต่อมาเมื่อสงครามในยุโรปใกล้สิ้นสุด ก็มีหลักฐานว่าผู้นำพรรคนาซีได้ใช้ไซยาไนด์เป็นยาพิษเพื่อปลิดชีพตัวเอง ก่อนจะถูกจับตัวได้ เช่น แอร์วิน รอมเมิล, เอฟา เบราน์, โยเซฟ เกิบเบลส์ และไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ยังถูกใช้เป็นสารพิษในการทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อีกหลายคน อย่างเช่น แอลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์และวีรบุรุษสงครามชาวอังกฤษ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของวิทยาการคอมพิวเตอร์” 

สารพิษสุดฮิตในนิยายฆาตกรรม

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่โด่งดังมากในโลกของนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เนื่องจากถูกใช้เป็น “เครื่องมือสังหาร” ในนิยายหลายเรื่อง โดยอกาธา คริสตี ราชินีแห่งนิยายนักสืบผู้สร้างตัวละครนักสืบอย่างเออร์กูล ปัวโรต์ หรือมิสมาร์เปิล คือผู้ที่ทำให้ไซยาไนด์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากตัวคริสตีเคยทำงานเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลภาคสนาม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับการอบรมเรื่องสารพิษชนิดต่าง ๆ ทำให้คริสตีมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสารพิษเป็นอย่างดี เธอจึงนำความรู้เหล่านั้นมาใช้กับงานเขียนนิยายนักสืบของตัวเอง กระทั่งนิยายนักสืบของเธอประสบความสำเร็จ ก็ทำให้วิธีการใช้ไซยาไนด์เป็นยาพิษสังหารกลายเป็นหนึ่งในวิธียอดนิยมของนักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวนและฆาตกรรมมานับแต่นั้น